อำนาจในมหาวิทยาลัย

หัวข้อข่าว: อำนาจในมหาวิทยาลัย

ที่มา: คอลัมน์ คำให้การพยานปากเอก, สยามรัฐ ฉบับวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย แก้วกานต์ กองโชค

 

หลังจากที่กรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)ได้ตั้งคณะกรรมการกลางขึ้น 2 ชุดเข้าไปตรวจสอบมหาวิทยาลัยที่มีปัญหา 12 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัยรัฐที่มีปัญหาธรรมาภิบาล 2 แห่งและมหาวิทยาลัยเอกชน ที่มีปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐาน10 แห่ง

 

          โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบฯ 2 ชุด ได้เข้าตรวจสอบมหาวิทยาลัยทั้งหมดและรายงานผลต่อที่ประชุม กกอ.แล้ว ซึ่งกกอ.มีมติเห็นชอบรับรองการรายงานผลของคณะกรรมการฯทั้ง 2 ชุด

 

          “รับทราบมติ กกอ.และเท่าที่ทราบกกอ.เสนอให้ใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเข้าไปแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยรัฐอีก 2 แห่งจากที่ใช้ไปแล้ว 2 แห่ง กับมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ชัยภูมิ และ มรภ.สุรินทร์”พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บอกกับนักข่าว

 

          ทั้งนี้มีการคาดกันว่า อาจจะมีการใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาอีก 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยบูรพา(มบ.)และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ตะวันออก

 

          มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งต่างประสบปัญหาในเรื่อง “อำนาจ” การบริหารบุคคล โดยก่อนหน้านี้ มีมหาวิทยาลัยจำนวน 14 แห่งที่ไม่มีอธิการบดี ได้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

 

          มีทั้งเกิดจากปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาพวกพ้องแต่มี่สำคัญที่สุดปัญหาเหล่านั้น มาจาก “การแย่งอำนาจ” นั่นทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งตกอยู่ใน “อำนาจของกลุ่มบางกลุ่ม” และ”สืบทอดอำนาจ” กันอย่างเป็นระบบ โดยไม่มีคานอำนาจแต่อย่างใด

 

          ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา

 

          เพื่อเปิดทาง รมว.ศึกษาธิการมีอำนาจยับยั้ง จัดการปัญหาการสรรหาตำแหน่งบริหาร นายกสภา กรรมการสภาอธิการบดี โดยให้อำนาจ รมว.ศึกษาธิการ โดยคำแนะนำของ กกอ.มีอำนาจสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งหยุดปฏิบัติหน้าที่พ้นจากตำแหน่ง หรือให้ไปปฏิบัติงานอื่นและไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เบี้ยประชุม สิทธิประโยชน์หรือเงินประจำตำแหน่งนั้น

 

          มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) สุรินทร์และ มรภ.ชัยภูมิ รับผลกรรมจากมาตรานี้ทันที ด้วยเหตุที่ว่า มหาวิทยาลัยทั้งสองมีปัญหาเข้าขั้นวิกฤติ เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับสภามหาวิทยาลัย มรภ.สุรินทร์มี “อัจฉรา ภาณุรัตน์”ทำหน้าที่รักษาการอธิการบดี จนถูกขึ้นป้ายต่อต้าน

 

          ปัญหาความชอบธรรมที่สำคัญคือมีการแก้ไขข้อบังคับการสรรหาโดยยกเลิกลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และมีการปฏิเสธไม่นำเสนอโปรดเกล้าฯ อธิการบดีนาน 8 ปี จนกลายเป็นเครือข่ายของ รษก.อธิการบดี

 

          แม้กระทั่งก่อนถูกฟัน รศ.ดร.อัจฉราภาณุรัตน์ อดีตรักษาการอธิการบดี มรภ.สุรินทร์ ยังได้แต่งตั้งตนเองเป็นผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งแต่งตั้งพรรคพวกเป็นเจ้าหน้าที่ชุดต่างๆ ในมรภ.สุรินทร์ ทำให้การแก้ไขปัญหา มรภ.สุรินทร์นั้น ถูกผนวกไว้ทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่

 

          1.งานวิชาการ ซึ่งจะมีการตรวจสอบหลักสูตรทั้งหมด 70 หลักสูตร

 

          2.ด้านบัญชีและการเงินต่างๆ ซึ่งได้มีการตรวจสอบการดำเนินการก่อสร้างอาคารต่างๆ ทั้งหมด 7 อาคาร

 

          3.ข้อบังคับ และกฎระเบียบต่างๆเนื่องจากมีการพบว่า การประชุมสภามหาวิทยาลัยหลายครั้ง ไม่ได้เป็นการประชุมแบบครบองค์ประชุม แต่เป็นการใช้หนังสือเวียนในการลงมติสภาฯ แทนและ

 

          4.งานบริหารบุคคลโดยเฉพาะมีการแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับเรื่องคุณสมบัติของอธิการบดี โดยตัดข้อความว่า “เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง” ออกไป ซึ่งทำให้ รศ.ดร.อัจฉรา อดีตอธิการบดี มรภ.สุรินทร์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้

 

          การสร้างเครือข่ายของ อัจฉราทำให้ต้องเชิญสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้าร่วมตรวจสอบการเงิน และระ บบบัญชี

 

          ขณะที่ มรภ.ชัยภูมิ ปัจจุบันมี สานนท์ ด่านภักดี ทำหน้าที่รักษาการอธิการบดีเป็นรองอธิการบดี มรภ.ชัยภูมิ ควบรักษาการอธิการบดี จนถูกร้องเรียนมากคนหนึ่ง

 

          นอกจากนี้ ดร.สาธิต ปิติวรา นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.)และกรรมการสภา ม.บูรพา พร้อมคณาอาจารย์ พนักงานมหาวิทยาลัย ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ประมาณ 30 คน ได้เรียกร้องขอให้ใช้ ม.44 ดำเนินการกับผู้รักษาการแทนอธิการบดี ม.บูรพาและผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีทุกคน และรักษาการสภามหาวิทยาลัยบูรพา

 

          เหตุผลสำคัญคือ ศ.นพ.สมพล พงศ์ไทย ผู้รักษาการแทนอธิการบดี มบ.รักษาการแทนรองอธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ปฏิบัติงานอย่างไร้ธรรมาภิบาล ส่งผลกระทบต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยและทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง จนส่งผลเสียหายต่อระบบการศึกษาโดยรวมศ.นพ.สมพล รักษาการตั้งแต่วันที่31 พ.ค.2557 เดินทางไปต่างประเทศถึง39 ครั้ง รวมระยะเวลา 171 วัน นั่นหมายความว่า เวลาทำงาน 1 เดือนเท่ากับ 20 วัน หรือ 1 ปีเท่ากับ 240 วัน รษก.อธิการบดีทำงานแค่ 96 วัน

 

          โดยสรุปแล้ว ภูเขาน้ำแข็งในมหาวิทยาลัยมีหลายลูกเกินไป โดยเฉพาะภูเขาแห่งความโลภ !!!