นี่แค่เริ่มต้นบทตรวจสอบ’ลุงตู่

หัวข้อข่าว: นี่แค่เริ่มต้นบทตรวจสอบ’ลุงตู่’

ที่มา: คอลัมน์ คิดข้ามขั้ว, คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย ไพศาล สังโวลี

 

ท่ามกลางกระแสความนิยม “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า “คสช.” กำลังพุ่งแรง ด้วยภาพลักษณ์ของผู้นำที่มีความจริงจังในการแก้ปัญหาประเทศ และแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างชนิดทำสงครามกันเลยก็ว่าได้

 

ใครจะคิดว่าอยู่ๆ ก็มีเรื่องที่ตัวเองกำลังจริงจังกับการแก้ปัญหา เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิด ให้ต้องสะสาง ทั้งในทางส่วนตัว และหาคำตอบที่น่าเชื่อถือได้ให้กับสังคมนั่นคือ “มรสุม” ที่ครอบครัวพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชาปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย “ลุงตู่” กำลังเผชิญอยู่กรณีถูกกล่าวหาเรื่อง “ฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา”ตั้งชื่อไม่เหมาะสม ตั้งตามชื่อ ผ่องพรรณ จันทร์โอชา

 

นายกสมาคมภริยาข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ภรรยา พล.อ.ปรีชา ซึ่งไปเป็นประธานในพิธีเปิด รวมถึงถูกตั้งคำถามในเวลาต่อมาเกี่ยวกับการใช้งบประมาณจัดสร้าง และการขอสนับสนุนเครื่องบินซี-130 รับส่งคณะสมาคมภริยาข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ขณะลงพื้นที่ดังกล่าวด้วย

 

รวมถึงเรื่อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ที่มี ปฐมพล จันทร์โอชา

 

บุตรชายพล.อ.ปรีชา เป็นผู้ถือหุ้นส่วน ได้รับการว่าจ้างรับเหมาก่อสร้างอาคารของกองทัพภาคที่ 3 รวม 2 โครงการ วงเงินรวมกว่า 26 ล้านบาท ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ใช้อำนาจพิเศษจนได้รับสัมปทานมาหรือไม่ แถม ศรีสุวรรณ จรรยา

 

เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็ได้นำเรื่องนี้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวนไปแล้ว ทั้งสองเรื่องไม่ว่าจะจบลงอย่างไร

 

ไม่ว่าสิ่งที่พล.อ.ปรีชา ชี้แจงคือ สมาคมภริยาข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถือเป็นหน่วยหนึ่งของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แม้จะไม่ได้เป็นหน่วยขึ้นตรง แต่ก็ทำงานร่วมกัน และมีภารกิจและงานที่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ ซึ่งการทำฝายกั้นน้ำนั้น เพราะในพื้นที่มีการร้องขอมา โดยมีศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร ศูนย์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหมทำหน้าที่ดูแลพื้นที่อยู่ และสมาคมได้สนับสนุนงบประมาณซื้อหินจำนวน 7,800 บาท ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ก็ช่วยหาไม้ไผ่ จากนั้นก็ลงแรงร่วมกันจัดทำฝายขึ้น สำหรับเรื่องชื่อของฝาย ชาวบ้านขอนำไปตั้งกันเอง และทางชาวบ้านก็ขอบคุณทหารและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดนี้ถือเป็นกิจกรรมช่วยเหลือสังคมจะจริงหรือไม่ ไม่ว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ออกมาช่วยการันตีอีกแรง ว่าเป็นไปตามการประมูลถูกต้องทุกอย่าง ยืนยันได้แต่ประเด็นก็คือ การตรวจสอบการใช้อำนาจในการบริหารประเทศของคนที่เป็น “ผู้นำ” ไม่ว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง หรือผู้นำที่มาจากเผด็จการทหาร แม้ว่าการตรวจสอบในส่วนหลังจะทำได้ยาก และน้อยนัก ที่จะตรวจสอบได้ ก็ตาม

 

ขณะเดียวกัน ผู้นำ ที่มีความบริสุทธิ์ใจ ก็ต้องเต็มใจให้ตรวจสอบ และพร้อมถูกตรวจสอบ ไม่ว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ เผด็จการทหารเช่นกัน ที่สำคัญ คือ การตรวจสอบคนใกล้ชิด ภรรยา ครอบครัว ญาติพี่น้อง ที่ส่อไปในทางอาศัยอำนาจบารมีของผู้นำในการแข่งขันทางธุรกิจเพื่อผลประโยชน์หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยกำลังตื่นตัวอย่างสูง แม้ว่าจะเป็นการอาศัยอำนาจบารมี ความเกรงใจในทางอ้อมก็ตาม ในทางการเมือง ก็เช่นกัน อาจจริงอย่างที่ พล.อ.ปรีชา ว่า หลายประเด็นถูกนำมาเชื่อมโยงกัน เนื่องจากตนเองเป็นน้องชายของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งในความหมายก็คือ เป็นการเชื่อมโยงเพื่อดิสเครดิตทางการเมืองหรือไม่

 

แต่เหนืออื่นใด คนใกล้ชิด ครอบครัว ญาติพี่น้อง ก็จะต้องสร้างเกราะป้องกันไม่ให้ตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองด้วย อย่าลืมว่าแม้ผู้นำจะบริสุทธิ์ยุติธรรม สุจริต ใสสะอาดสักปานใด แต่หากคนรอบข้างสร้างปัญหาให้ไม่หยุดหย่อน ก็มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในที่สุดได้เหมือนกัน

 

ต้องไม่ลืมว่า นี่แค่เริ่มต้น ที่พล.อ.ประยุทธ์ ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น แล้วถ้าเป็นไปตามกระแสข่าวที่ประชาชนหนุน “ลุงตู่” เป็นนายกฯ ต่ออีก 5 ปี ลองคิดดูว่า ถ้าได้เป็นนายกฯ จริง การตรวจสอบจะเข้มข้นแค่ไหน และเดิมพันทางการเมือง ก็คงสูงไม่ต่างจากหลายคนที่ถูกขับไล่เช่นกัน