หัวข้อข่าว: น่าเห็นใจพล.อ.ประยุทธ์
ที่มา: คอลัมน์ เสียงจากห้วงสำนึก, ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย สุรวิชช์ วีรวรรณ
ทันทีที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ซึ่งมีบุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ถือหุ้นเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นคู่สัญญารับเหมาก่อสร้างหน่วยงานในกองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า อย่างน้อย 2 โครงการ รวมวงเงิน 2 โครงการ 26,960,000 บาท
และมีข่าวต่อมาว่า หจก.คอนเทมโพรารีฯ ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนเมื่อปี 2555 ด้วยทุนจดทะเบียน 1.5 ล้านบาทนั้น ไม่ได้งานแค่ 2 โครงการนี้เท่านั้น แต่ยังได้งานของกองทัพภาคที่ 3 อีกหลายรายการ มูลค่ารวมกัน 97,651,000 บาท รวมทั้งงานจากหน่วยราชการอื่นอีก ทั้งหมดได้มาในระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2557 ถึง 25 เมษายน 2559 หลังการรัฐประหาร
ก็เกิดคำถามถึงความโปร่งใส การเอื้อประโยชน์ และการขัดกันแห่งผลประโยชน์เกิดขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ครอบครัวของ พล.อ.ปรีชามีข่าวมาอย่างต่อเนื่องเรื่องเงินกองทัพที่ไปอยู่ในบัญชีส่วนตัว เรื่องเอาลูกเข้าเป็นทหาร เรื่องฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา และพิธีการอันเอิกเกริกจนต้องตามแก้ข่าวชี้แจงกันจ้าละหวั่น
ฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกมาโต้ทันทีว่า จะไม่ให้เขาประกอบอาชีพหรืออย่างไร จบวิศวะมาจะให้ไปทำนาหรืออย่างไร เขาได้งานมาโดยสุจริตก็ได้ เป็นลูกผู้ใหญ่ต้องเกาะพ่อกินอย่างเดียวไม่ต้องทำมาหากินหรือ
จนลืมไปว่า ฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เหรอที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญปราบโกง เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายลูกที่เอาผิดกับ คนโกงอย่างเข้มงวด รวมถึงการที่รัฐบาลเตรียมเข็นออกมาปราบโกง นั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่าง ผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. … หรือกฎหมาย 3 ชั่วโคตรออกมา
เบื้องต้นร่างกฎหมายที่เรียกว่า 3 ชั่วโคตรนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับแก้ไขถ้อยคำ คาดว่าจะส่งร่างให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาภายในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อส่งต่อให้ สนช.พิจารณาในขั้นต่อไป สำหรับสาระได้กำหนดการกระทำขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวมตามมาตรา 5 ดังนี้
- กำหนดนโยบายหรือเสนอกฎหมายหรือกฎซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อกิจการที่ตน คู่สมรส บุตร หรือบิดามารดา มีส่วนได้เสียอยู่
- นำความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนมีต่อบุคคลอื่นมาประกอบการ ใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลนั้น
- การกระทำการใด ดำรงตำแหน่งใด หรือปฏิบัติการใดในฐานะส่วนตัวที่ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงว่าจะขัดกับประโยชน์ส่วนรวมที่อยู่ในความรับผิดชอบตามหน้าที่ หรือเป็นการเสื่อมเสียแก่ตำแหน่งหน้าที่
- การใช้เวลาราชการหรือหน่วยงาน เงิน ทรัพย์สิน บุคลากร บริการ สิ่งอำนวยความสะดวกของทางราชการหรือหน่วยงานไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตน หรือผู้อื่นเว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกฎ
- การกระทำที่เกี่ยวกับการขัดแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวมตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต
- การใช้ข้อมูลภายในของรัฐที่ยังเป็นความลับอยู่ที่ตนได้รับหรือทราบจากการปฏิบัติราชการหรือในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต
- การริเริ่ม เสนอ จัดทำหรืออนุมัติโครงการของรัฐโดยทุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือบุคคลใด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
- การใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งตนมีอยู่ไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจโดยอิสระในการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งอื่นโดยทุจริตไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมและการกระทำตาม (8) ที่จะถือว่าเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ต้องไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
- อนุมัติ อนุญาต รับจดทะเบียน หรือให้สิทธิประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ 2. ให้สัมปทาน ทำสัญญา หรือทำนิติกรรม อันเป็น การให้ประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด 3. บรรจุ แต่งตั้งเลื่อนขั้น เงินเดือน โอนย้าย หรือให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในบังคบบัญชา หรือกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐตาม (8) พ้นจากตำแหน่ง หรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ 4. ไม่แจ้งความหรือร้องทุกข์ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา 5. ไม่ฟ้องไม่ดำเนินคดีหรือถอนฟ้อง ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา 6. ไม่บังคับทางปกครองหรือไม่บังคับคดี 7. กระทำการหรือไม่กระทำการอื่นตามที่ ป.ป.ช.ประกาศกำหนดให้นำความในวรรค (1) (2) (3) (4) มาใช้บังคับการกระทำของคู่สมรสและบุตรของเจ้าหน้าที่รัฐ
นั่นก็คือร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ คู่สมรส บิดามารดา หรือบุตร เข้ามามีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประโยชน์ส่วนรวมนั่นเอง
เนื้อหาตามกฎหมายเดิมกำหนดให้คำว่า เครือญาติครอบคลุมถึง พ่อแม่ บุตร ลูกเขย ลูกสะใภ้ ลุง ป้า น้า อา พ่อตา แม่ยาย ลูก หลาน เหลน หรือ 7 ชั่วโคตร แต่กลัวว่าจะไม่มีใครกล้ามาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจึง ปรับแก้ลงมาเหลือแค่ 3 ชั่วโคตร คือพ่อแม่ คู่สมรส บุตร และคู่สมรสของบุตร
ลองพิจารณาดูนะครับว่า ถ้ากฎหมาย 3 ชั่วโคตรบังคับใช้ การ ได้มาในฐานะคู่สัญญารับเหมาก่อสร้างหน่วยงานในกองทัพภาคที่ 3 ของลูกชาย พล.อ.ปรีชาที่พ่อเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะปลัดกระทรวงกลาโหมนั้น จะเข้าข่ายตามกฎหมายนี้หรือไม่
เอาเถอะการได้งานของหลาน นายกฯ อาจยังไม่มีความผิดตอนนี้เพราะกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ออก และตอนนี้ รธน.ชั่วคราวไม่มีบทบัญญัติเรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์แบบรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ส่วนจะผิดกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 หรือกฎหมายอาญามาตรา 152 หรือไม่ก็ต้องไปดูในรายละเอียด
แต่ถ้าเรื่องแบบนี้เหมาะและควรจะต้องมีกฎหมายเรื่องนี้ออกมาป้องกันทำไม ผมก็เชื่อเหมือนที่หลายคนเชื่อนะครับว่า เรื่องที่เกิดขึ้นและถูกขุดคุ้ยขึ้นมานี้ ต้องการให้กระทบต่อการบริหารประเทศชาติของพล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี กำลังแก้ไขและปรับปรุงแนวทางของประเทศเพื่อกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง แต่จะโทษใครได้ เพราะเรื่องที่ถูกขุดคุ้ยออกมานั้นล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง
อย่าไปมองว่า ถูกขุดคุ้ยเพราะเป็นน้องชายของพล.อ.ประยุทธ์เลยครับ เพราะถ้าไม่ทำในสิ่งที่สุ่มเสี่ยงใครจะขุดคุ้ยก็ไม่มีผลอะไร
เราต้องไม่ลืมนะครับว่า 10 ปีของความขัดแย้งที่ฝ่ายทักษิณใช้มาปลุกปั่นมวลชนก็คือความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม และการ กล่าวหาเรื่องสองมาตรฐาน ฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณเกิดขึ้นเพราะทักษิณแสวงหาประโยชน์จากอำนาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนและการฉ้อฉลอำนาจอีกสารพัด
จนวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเข้ามาแก้ปัญหาและกำลังนำพาประเทศชาติไปได้ด้วยดี พอเจอเรื่องแบบนี้บอกตรงๆ ว่าน่าเห็นใจ จริงๆ ครับ .