เกมปริศนา หุ้น JAS ในกำมือ’พิชญ์’ ที่รอคำตอบ

หัวข้อข่าว เกมปริศนา หุ้น JAS ในกำมือพิชญ์ที่รอคำตอบ  

ที่มา; ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559

 

เรียกว่าปรากฏตัวทีไรฮือฮาทุกที ล่าสุด “พิชญ์ โพธารามิก” ประกาศ “ตั้งโต๊ะรับซื้อคืน” หรือ เทนเดอร์ ออฟเฟอร์ “หลักทรัพย์ทั้งหมด” ของ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) และมีคำถามตามมามากมายเช่นทุกครั้ง

 

เกมเขย่าราคาหุ้น JAS ครั้งนี้เกิดขึ้นหลัง JAS แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เช้า 19 ก.ย. 2559 ว่า “พิชญ์” จะเทนเดอร์ฯหลักทรัพย์ JAS ทั้งหมด ตั้งแต่ 29 ก.ย.-3 พ.ย.นี้ โดยจะซื้อหุ้นสามัญ JAS ราคาหุ้นละ 7.25 บาท และใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) JAS-W3 หน่วยละ 3.68 บาท โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB เป็นผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อหลักทรัพย์และเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน ภายในวงเงินไม่เกิน 42,500 ล้านบาท

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงขึ้นเครื่องหมายพักการซื้อขายชั่วคราว (H) หุ้น JAS ขอคำชี้แจงว่า JAS จะยังคงเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือไม่ ซึ่ง “พิชญ์” แจ้งจุดประสงค์การเทนเดอร์ฯว่า เพื่อต้องการถือหุ้นเพิ่ม ให้สามารถบริหารงานได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยไม่มีเจตนาจะออกจากตลาดหุ้นไทย ก่อน ตลท.จะปลดเครื่องหมาย H รอบเช้าวันดังกล่าว

 

ขณะที่หุ้น JAS วิ่งกระฉูดหลังปลด H กลับมาซื้อขายตามปกติ โดยราคาเปิดที่ 7.05 บาท และดีดขึ้นแตะระดับสูงสุด 7.30 บาท ก่อนปรับลงมาปิดตลาดที่ 7.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.55 บาท หรือ 8.27% จากวันก่อนหน้า และล่าสุด (20 ก.ย.) ขยับขึ้นลงบริเวณ 7.20-7.30 บาท เช่นเดียวกับมูลค่าซื้อขาย (วอลุ่ม) ที่พุ่ง ขึ้นอันดับหนึ่งในตลาดหุ้นทั้ง 2 วัน

 

SCB ย้ำให้กู้ “พิชญ์” เสี่ยงต่ำ

 

กรณีดังกล่าว นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB กล่าวว่า การปล่อยกู้ส่วนบุคคลให้นายพิชญ์ วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท เพราะมองว่ามีความ “เสี่ยงต่ำ” เพราะจุดมุ่งหมายของนายพิชญ์ต้องการเป็นเจ้าของบริษัทนี้เต็มตัว ผ่านการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ธนาคารจึงพิจารณาปล่อยกู้ให้โดยไม่ได้มองที่ความมั่นคงของ “ตัวบุคคล” แต่มองที่ “ธุรกิจ JAS” มีเสถียรภาพหรือไม่

 

การใช้วงเงินครั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นจะขายหุ้นให้นายพิชญ์มากน้อยแค่ไหน จะได้หุ้น 100% หรือไม่ต้องดูต่อไป ส่วนการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ผู้กู้ก็ใช้หุ้นที่ตัวเองถืออยู่ และฐานะบริษัทค้ำ ดีลนี้มีตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรซับซ้อน เราใช้เวลา 1 เดือนในการพูดคุยกัน เพื่อดูเครดิต และมองว่าธุรกิจนี้เป็น Good Deal Business ทั้งในด้านรายได้และกำไร”

 

พร้อมวิเคราะห์ธุรกิจโครงข่ายบรอดแบนด์ของ JAS ว่า ปัจจุบันมีฐานลูกค้าและ รายได้แน่นอน กระแสเงินสดหมุนเวียน (Cash Flow) กว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ถือว่าแข็งแกร่ง มีเงินหมุนเวียนมากพอในการชำระหนี้ ที่สำคัญการแข่งขันไม่รุนแรง ผู้เล่นในตลาดน้อย โดย JAS ถือเป็นผู้นำธุรกิจบรอดแบนด์อันดับ 2 มีมาร์เก็ตแชร์ใกล้เคียงกับเบอร์ 1

 

แตกต่างสิ้นเชิงกับการปล่อยกู้ครั้งประมูลไลเซนส์คลื่นความถี่ 4G เพราะปล่อยกู้ 4G วงเงินสูงกว่า ยังไม่มีธุรกิจ ไม่มีฐานลูกค้า และต้องลงทุนด้านเครือข่าย อีกมาก ความไม่แน่นอนด้านรายได้จึงมีสูง แต่ถ้า JAS ต้องการลงทุนใหม่ ๆ และขอสินเชื่อเพิ่มเติม ก็ต้องดูความเป็นไปได้ของโครงการ เพราะการขอสินเชื่อของ JAS ที่ผ่านมายังไม่เต็มเพดาน”

 

โบรกฯอึ้งเกมการเงินนอกตำรา

 

ขณะที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์มีหลากหลาย มุมมอง โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) รายหนึ่งระบุว่า หลายครั้ง “พิชญ์” มักจะมีกลวิธีใช้เครื่องมือทางการเงินที่คาดไม่ถึง ทำให้เกิดข้อสงสัยหลายประเด็น เช่น ทำไมผู้ลงทุนต้องมาซื้อหุ้นหลังจากที่ “พิชญ์” เคยซื้อหุ้นไปบางส่วนก่อนหน้านี้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แถมผู้ลงทุนต้องมาขายคืนให้ “พิชญ์” ทำเทนเดอร์ฯ จึงดูเป็นธุรกรรมที่วนเวียนซับซ้อน, ทำไม “พิชญ์” ต้องการถือหลักทรัพย์ของ JAS ทั้งหมด มีประเด็นอื่นนอกเหนือจากคำชี้แจงหรือไม่ เป็นต้น

 

ส่องธุรกิจ-ราคาหุ้น JAS

 

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า หากนักลงทุนจะเข้าซื้อหลักทรัพย์ JAS ตอนนี้อาจไม่คุ้มนัก เนื่องจากราคาบนกระดานใกล้เคียงราคาเทนเดอร์ฯมากแล้ว ซึ่งยากทำกำไร และหากซื้อเพราะคาดหวังประเด็นที่มีกระแสข่าว เช่น การร่วมทุน ขายกิจการ ฯลฯ ควรวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน อย่างไรก็ตาม พื้นฐาน ธุรกิจ JAS มีความแข็งแกร่งด้านกระแสเงินสด ฐานลูกค้าบรอดแบนด์ หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

 

กุนซืออุบกลยุทธ์ JAS

 

ด้านนายชาญ บูลกุล กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทในฐานะที่ปรึกษานายพิชญ์ และมีส่วนในการเจรจากับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ทำดีลเทนเดอร์ออฟเฟอร์ JAS ครั้งนี้ เชื่อว่า SCB ปล่อยกู้เพราะคำนวณแล้วคุ้ม

 

ขอยืนยันว่าพิชญ์ไม่ได้ซื้อมาเพื่อขายต่อ ถ้าเป็นอย่างนั้นเข้าซื้อตรงในตลาดหุ้นเองก็ได้ ไม่ต้องมาซื้อต่อในราคาบวกไปอีก ตอนนี้คนในตลาดหุ้นตีความเป็นปั่นหุ้นไปแล้ว แถมยังโยงกับเรื่องหุ้นดีแทค เอไอเอสอีก ส่วนได้หุ้นมาเพิ่มจะทำอะไรต่อ ก็ตอนนี้เทนเดอร์ฯ ยังไม่เริ่มเลย และจบจะได้หุ้นมาเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้ แต่มีแผนกลยุทธ์อยู่ ส่วนเงินที่บริษัทลูก JTS เปิดทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ด้วย ใช้เงินหลักร้อยล้านบาท ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว”

 

ปริศนายังรอคำตอบ

 

ส่วนแหล่งข่าวจากธุรกิจโทรคมนาคมมองว่า ลักษณะการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ซื้อหุ้นของพิชญ์ แสดงว่าไม่มีใครเข้ามาซื้อ เพราะถ้ามีใครสนใจซื้อก็น่าจะให้บริษัทนั้น ๆ เทนเดอร์ออฟเฟอร์ตรงเลย ไม่ใช่ให้ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อเข้าก่อนแล้วไปขายต่อให้พันธมิตรใหม่ จึงมองว่าเป็นกระบวนการในการอันล็อกแวลู บริษัทให้ดีขึ้น อาจนำบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับโครงสร้างภายใน แยกทรัพย์สินดี ไม่ดีออกจากกัน โดยบรอดแบนด์ถือเป็นสินทรัพย์ที่ดี แต่ธุรกิจเดิมหลายส่วนไม่ดี เมื่อปรับเสร็จก็สามารถนำบริษัทกลับเข้ามาได้อีกครั้ง แบบดูดีขึ้นกว่าเดิม

 

ที่มีการลือกันว่าค่ายมือถือจะมาเป็นพันธมิตรกับจัสมิน ระหว่างเอไอเอส ดีแทค และทรู รายที่น่าจะเป็นไปได้คือ ดีแทค เพราะยังไม่มีธุรกิจบรอดแบนด์แบบมีสาย ขณะที่เอไอเอส และทรู ลงทุน ฟิกซ์บรอดแบนด์ของตนเองอยู่แล้ว แต่ถ้าดีแทคมาซื้อจะต้องใช้เงินมากกว่าเมื่อครั้งเข้าประมูลคลื่น 4G ถามว่า เทเลนอร์จะซื้อไหม สู้เก็บเงินไปประมูลคลื่นรอบหน้าไม่ดีกว่าหรือ แต่ถ้าเป็นต่างชาติรายใหม่ ๆ ที่อยากเข้ามาทำธุรกิจในบ้านเราก็เป็นไปได้”

 

JAS ยังคงเป็นหุ้นที่ทิ้งปริศนาไว้มากมาย ที่รอเวลาไขคำตอบ