หัวข้อข่าว ผิดพลาดโทษแรงขั้นอาญา นักวิเคราะห์ห่วงกฎหมายใหม่ทำงานยากขึ้น
ที่มา; ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559
ก.ล.ต.เตรียมร่อนหนังสือแจ้งโบรกเกอร์และนักวิเคราะห์ ห้ามนำข้อมูลภายในหรืออินไซด์ ที่มีนัยสำคัญหรือมีผลกระทบต่อราคาหุ้นมาวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียน ขณะที่นายกสมาคมนักวิเคราะห์ขอทำความเข้าใจถึงแนวทางการวิเคราะห์ที่ชัดเจน ก่อนเตรียมทำคู่มือแนวทางการวิเคราะห์หรือการปฏิบัติงานของนักวิเครราะห์ หลังกังวลกฎหมายใหม่จะทำให้นักวิเคราะห์ทำงานยากขึ้น ผิดพลาดโดนบทลงโทษรุนแรงถึงขั้นอาญา
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้า ก.ล.ต.จะส่งหนังสือชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับแก้ไขใหม่ ให้กับบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อให้บริษัทนำไปจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติงาน และเพื่อให้การวิเคราะห์หลักทรัพย์เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยปัจจุบัน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างพูดคุยกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์และสมาคมนักวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจขอบเขตการปฏิบัติงาน ว่าสิ่งไหนที่สามารถทำได้ และอะไรที่ไม่สามารถทำได้
ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวทางการปฏิบัติใหม่นี้จะไม่ส่งผลต่อการวิเคราะห์ หรือทำให้มีการออกบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ลดลง โดยการเขียนบทวิเคราะห์ต่างๆ ยังสามารถทำได้ตามเดิม เนื่องจากนักวิเคราะห์ยังสามารถนำข้อมูลในอดีต ข้อมูลพื้นฐานและการคาดการณ์มาประกอบการวิเคราะห์ได้ แต่สิ่งที่ห้ามคือนำข้อมูลภายในที่ไปรับทราบมา และยังไม่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์มาใส่ในบทวิเคราะห์จนทำให้มีผลกระทบต่อราคาหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจทำให้นักวิเคราะห์มีความผิดได้ จากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีความผิด “บทวิเคราะห์คงไม่ได้น้อยลงเพราะยังทำได้ตามปกติ แต่ที่กฎหมายใหม่ต้องการบอก คือห้ามนำข้อมูลอินไซด์มาประกอบการวิเคราะห์ หรือชูขึ้นมาเป็นประเด็น โดยหลังจากนี้ทางสมาคมนักวิเคราะห์ฯ จะจัดทำคู่มือเกี่ยวกับข้อจำกัดต่างๆ ในการปฏิบัติงานให้นักวิเคราะห์ได้รับทราบ”
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา สมาคมนักวิเคราะห์ได้นำนักวิเคราะห์กว่า 100 คนเข้าพบ ก.ล.ต.เพื่อทำความเข้าใจ และกำหนดแนวทางการทำงานของนักวิเคราะห์ตามกฎหมายหลักทรัพย์ฉบับใหม่ หลังมีความกังวลว่า จะทำให้นักวิเคราะห์ทำงานยากขึ้นหรือไม่ เพราะกฎหมายเขียนไว้เข้มข้นรุนแรงและมีบทลงโทษที่เป็นคดีอาญาที่รุนแรง ซึ่งวัตถุประสงค์ของกฎหมายเป็นเรื่องดี ยกระดับมาตรฐานแนวทางการวิเคราะห์ที่มีความเป็นสากลมากขึ้น และเป็นการสร้างมาตรฐานเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน โดยหลังจากนี้จะมีการทำคู่มือแนวทางการวิเคราะห์และการเขียนบทวิเคราะห์ที่ชัดเจน เป็นไกด์ไลน์หรือแนวทางว่าอะไรทำได้หรืออะไรทำไม่ได้
สำหรับการหารือมีประเด็นสำคัญ เช่น การห้ามนำข้อมูลเท็จมาวิเคราะห์หรือใส่ในบทวิเคราะห์ ซึ่งประเด็นนี้ไม่ติดใจ แต่มีประเด็นที่ต้องการความชัดเจนที่ ก.ล.ต.ห่วงว่าเวลาไป company visit หรือพบผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแล้วได้ข้อมูลภายในที่มีผลต่อราคาหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ ห้ามนำมาเผยแพร่หรือนำมาเป็นข้อมูลในการวิจัย ซึ่งนักวิเคราะห์ต้องการให้กำหนดรายละเอียดหรือนิยามข้อมูลอินไซเดอร์ว่ามีขอบเขตแค่ไหน นอกจากนี้ ที่กำหนดว่า ต้องไม่นำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมาวิเคราะห์ ทำให้ต่อไปจะต้องเป็นหน้าที่ที่นักวิเคราะห์ต้องไปพิสูจน์หาความถูกต้องของข้อมูลเองหรือไม่แค่ไหน เช่น หากเป็นข้อมูลที่ผู้บริหารให้สัมภาษณ์ออกสื่อจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้หรือไม่ รวมทั้งประเด็นที่ว่าข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ ต้องมีความครบถ้วนของข้อมูลเพียงพอ ซึ่งต้องการความชัดเจนว่าข้อมูลแค่ไหนถึงจะเรียกว่าครบถ้วนและนำมาวิเคราะห์ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์ที่แก้ไขใหม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว โดยเพิ่มมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายที่มีความเข้มข้นและบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นทั้งในประเด็นการปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น ที่มีการตรวจสอบตั้งแต่ผู้บริหารพนักงาน ลูกเมียพ่อแม่ญาติพี่น้อง ขณะที่เพิ่มมาตรการลงโทษทางแพ่งที่กำหนดค่าปรับที่รุนแรงขึ้น และยังถูกห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนรวมทั้งห้ามซื้อขายหุ้นในตลาดด้วย.