หัวข้อข่าว: เปิดไฟไล่โกง
ที่มา: เปิดไฟไล่โกง, มติชน ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย ปราปต์ บุนปาน
เมื่อวันที่ 11 กันยายน เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เดินทางไปกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “มาตรการจัดการการคอร์รัปชั่นของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม” เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติ ณ ท้องสนามหลวง
ก่อนที่ผู้ร่วมงานทั้งหมดจะร่วมกันทำกิจกรรม “เปิดไฟไล่โกง” เพื่อแสดงพลังในการกำจัดผู้มีพฤติกรรมทุจริตให้หมดสิ้นจากประเทศ
ผ่านปาฐกถาดังกล่าว ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงปัญหาทุจริต ตลอดจนหนทางแก้ไข ไว้อย่างน่าสนใจและน่าจับใจในหลายแง่มุม
ท่านนายกฯระบุว่า เรื่องทุจริตเป็น “กับดัก” ที่สำคัญของประเทศ ทำให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ช้า เกิดความขัดแย้ง แตกแยก สังคมมีปัญหาไปหมด ไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ
“เราแก้ปัญหามา 40 ปี แต่ยังเหมือนเดิม ต้องหาวิธีใหม่ ให้การแก้ปัญหามีผลสัมฤทธิ์ รัฐบาลนี้ทำทุกอย่าง การแก้ปัญหาทุจริตเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่อยู่ในรัฐบาล ประเทศประสบปัญหานี้มานานและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงพฤษภาคม 2557
“(จึง) เป็นหน้าที่ที่เราต้องแก้ไข ไม่ได้เข้ามาเพื่อจับผิดใคร หรือแกล้งใครอย่างที่ถูกกล่าวหา กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย สำหรับโรดแมปในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการส่งมอบ (งานให้รัฐบาลชุดใหม่) การทุจริตก็ต้องน้อยลง หรือไม่มีเลย”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาทุจริตต้องทำตั้งแต่วันนี้ ซึ่งอยู่ในแผนการปฏิรูป 20 ปีของรัฐบาล และอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะปราศจากปัญหาทุจริต หากทุกฝ่ายร่วมกัน และประชาชนให้กำลังใจให้คนดีเข้ามาทำงาน
ส่วนการใช้กฎหมายนั้น รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังกดประชาชน ไม่ได้ให้เชื่อฟัง แต่กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งทุกคนควรต้องรู้เท่าทัน จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะไม่ต้องการให้คนไม่รู้เรื่อง และคนยากจนต้องเข้าไปรับโทษ
รัฐบาลทำกฎหมายออกมาเพื่อป้องกันและจัดการกับ “ทุกคน” ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ คนเสนอ และคนรับ อย่าง “เท่าเทียมกัน”
ท่านนายกฯ ยังกล่าวอีกว่า ส่วน “ข้าราชการ” อย่าคิดว่าทำอะไรแล้วจะไม่มีใครรู้ เพราะประชาชนจับตามองอยู่ ที่ผ่านมารัฐบาลเน้นย้ำเรื่องธรรมาภิบาลในการทำงานให้โปร่งใส และขณะนี้มี พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ คอยดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปฏิบัติตาม
ที่ผ่านมาประชาชนไม่ชอบราชการเพราะไม่เป็นมิตร จึงต้องปรับเปลี่ยน ทั้งนี้ การแก้ทุจริตต้องทำทั้งระบบและต่อเนื่อง มิเช่นนั้นประเทศจะเสื่อมถอย กลายเป็น “รัฐล้มเหลว”ขออนุญาตคัดลอกเนื้อข่าวข้างต้นมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง เพื่อร่วมเป็นกำลังใจและร่วมสนับสนุนให้รัฐบาล และ คสช.เดินหน้าขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นให้ลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไป
ขณะเดียวกัน หากผู้ที่มีความข้องเกี่ยว-ใกล้ชิดกับรัฐบาล และ คสช. ถูกตั้งข้อสงสัยในกรณีดังกล่าว
ก็ควรจะต้องมีการชี้แจงข้อสงสัยและเปิดให้มีการตรวจสอบอย่างสุจริตและโปร่งใส
สมดังปณิธานของผู้นำประเทศที่มุ่งหมายว่า “รัฐบาลทำกฎหมายออกมาเพื่อป้องกันและจัดการกับทุกคน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ คนเสนอ และคนรับ อย่างเท่าเทียมกัน”