หัวข้อข่าว: ระวังวิกฤติศรัทธา’อิเหนาเป็นเอง
ที่มา: ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559
คำตอบของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อกรณีอื้อฉาวที่เกี่ยวข้องกับ “น้องชาย” และครอบครัว คือ พล.อ.ปรีชา และนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา ตลอดจนถึง นายปฐมพล จันทร์โอชา ว่า เป็นคนละคน และอย่านำมาโจมตีตนเอง หรือกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่สนใจหรือมีการเลือกปฏิบัตินั้น จะฟังขึ้นหรือไม่ขึ้นในสายตาของสังคมไทยท่ามกลางกระแสการปฏิรูปบ้านเมืองหรือไม่อย่างไร นับเป็นอิสรภาพแห่งความคิด แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ทราบกันต่อไป คงไม่พ้นกระบวนการตรวจสอบตามขั้นตอนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพราะปฏิเสธมิได้ว่า เรื่องนี้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลโดยตรง
รัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจจะปฏิเสธความเกี่ยวข้องต่อประเด็นข้อกังขาของสังคมจนกระทั่งมีผู้ร้องต่อ ป.ป.ช. ในเรื่องการสร้างฝาย ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และการประมูลงานก่อสร้างของกองทัพภาค 3 ซึ่งมีชื่อของครอบครัว พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ถูกกล่าวหาได้ไม่มากก็น้อย แต่คงไม่สามารถปัดความรับผิดชอบต่อการทำความจริงให้ปรากฏ เพราะสัญญาของ คสช.ตลอดจนโรดแมปที่เพียรพยายามโฆษณาประชาสัมพันธ์กับประชาชนว่าเพื่อสร้างประเทศไทยที่ดีกว่านั้น มีหัวข้อเรื่องการต่อสู้กับการทุตจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งยังมีการชูธงนโยบายลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นวางเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ และผลักดันให้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้มติคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ คตช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็เพิ่งมีมติให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจิตดำเนินงานด้วยความระมัดระวัง ด้วยเหตุผลว่า สังคมในขณะนี้ยังไม่ยอมรับมาตรฐานกฎหมาย ช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงท้ายของการปฏิรูปตามโรดแมป นับเป็นห้วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะวางรากฐานในมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและให้เกิดความยั่งยืน สมควรที่หน่วยงานต่างๆ จะได้ร่วมมือกันประเมินมาตรการหรือแนวทางที่ได้ดำเนินการแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการว่าอันไหนที่มีผลสัมฤทธิ์ก็ให้เร่งพัฒนาอย่างยั่งยืน และอันไหนที่ยังไม่เกิดผลให้หาวิธีการปรับปรุงแก้ไข หรือหาทางระงับ รวมทั้งหามาตรการ เครื่องมือใหม่ๆ มาใช้ นอกจากนั้นล่าสุดก็เพิ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมและประสานงานการประเมินดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน
สิ่งดีๆ หรือความตั้งใจของรัฐบาล คสช.ตั้งแต่วันแรก ที่พยายามตอบสนองในสิ่งที่ประชาชนคาดหวังและรอคอยมานาน เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันให้สิ้นซาก หรือเป็นไปได้ก็ให้หาเครื่องมือที่จะปิดโอกาสมิให้มีการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบแก่พรรคและพวกพ้อง เฉกเช่นที่เป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมืองมาโดยตลอดนั้น …วันนี้ มีแนวโน้มจะกลายเป็น “ศูนย์” ถึงขั้นเข้าสู่ภาวะล้มละลายด้านความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจได้ ถ้าหากผู้นำรัฐบาลหรือ “บิ๊กตู่” ยังเลือกที่จะเล่นลิ้น แสดงลีลาถามช้างตอบม้า ทั้งๆ ที่ประชาชนต้องการเห็นความชัดเจนที่สามารถจับต้องได้ นั่นคือ ตัวอย่างของความเป็นผู้นำในการกล้าทำ กล้าตัดสินใจ แก้ไขปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่รัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
แม้สังคมไทยจะรู้เท่าทัน ข้อเรียกร้องของอดีตนายกรัฐมนตรี นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขอให้มีความเป็นธรรมในทางปฏิติอย่างเท่าเทียมของตนเองต่อกรณีการทำความเสียหายให้กับรัฐตามนโยบายการจำนำข้าวกับกรณีของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ว่าเป็นการใช้วาทกรรมสร้างดรามาทางการเมือง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ปฏิเสธความจริงมิได้ว่า ถ้ายังทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เรื่องของน้องชาย ที่ไม่สมควรและไม่สง่างามในทางปฏิบัติ มันก็คงจะเข้าทำนอง “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” หรืออาจจะหนักข้อถึงขั้น “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหล กินน้ำแกง” ซึ่งล้วนแล้วแต่บั่นทอนภาพลักษณ์และความดีที่สะสมมาตั้งแต่เป็นรัฐบาลของประชาชนและเพื่อประชาชนทั้งสิ้น.