หัวข้อข่าว: สัมภาษณ์: พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เคลียร์ปมไอซีที-จัดโครงสร้างรับ ก.ดิจิทัล
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559
นับจากวันที่ 16 ก.ย. 2559 จะไม่มีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) อีกต่อไปแต่แปลงโฉมเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) หากยังไร้เจ้ากระทรวงตัวจริง แต่ยังมีงานค้างรอให้สานต่อ และสะสางเต็มมือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้อน ๆ อย่างกรณีดาวเทียมไทยคม, การวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน เป็นต้น
ภารกิจทั้งหลายจะเดินหน้าต่ออย่างไรในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน “พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง” รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี มีคำตอบ ในโอกาสที่เดินทางมามอบนโยบายให้กับหน่วยงานในสังกัด ดังนี้
จากไอซีทีสู่กระทรวงดิจิทัล เมื่อเป็นกระทรวงดิจิทัลจะมีความเปลี่ยนแปลง และมียุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป ชัดเจนขึ้นและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มีหลายหน่วยงานที่ต้องปรับโครงสร้าง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวง รวมถึงมีหน่วยงานใหม่ขึ้นมา ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะปรับมาจากซิป้า ไม่ใช่ยุบโดยสิ้นเชิง และมีหน่วยงานกำกับใหม่ คือ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในช่วง 1 เดือนจากนี้จะมีการขับเคลื่อน ทั้งการประชาสัมพันธ์เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่สาธารณะ ทั้งชื่อหน่วยงาน และการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น รวมถึง เอกสารสัญญาต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
ในการประชุมนี้ มีการนำเสนอแผนงานของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งสำคัญมากที่จะต้องทำให้สอดคล้องแผนชาติ
2 ปีที่ผ่านมาเป็นการทำตามกรอบ คสช. จากนี้ไปจะเป็นการขับเคลื่อน เพิ่มยุทธศาสตร์เพิ่มหน่วยงานที่เกี่ยวกับดีอี เข้ามา ถือว่ามีความท้าทายมาก ต้องมีการ บูรณาการทุกภาคส่วน ต้องมีการฝึกคนที่มีอยู่ และบรรจุคนเข้ามาเพิ่มเติมในส่วนที่ ยังขาด ตรงนี้เป็นข้อกังวลมากว่า คนของเราจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญมากพอหรือไม่ แน่นอนว่าทุกคนไม่ได้เกิดมาแล้วรู้ทุกเรื่อง ต้องเรียนรู้จึงต้องใช้เวลา 1-3 เดือนนี้ เรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ได้เป็นช่วงวางแผนทั้ง 2 ส่วน คือ งานค้างที่ต้องทำให้เสร็จในปี 2560 งานไหนที่มีงบประมาณผูกพันไว้แล้วต้องดำเนินการต่อให้เป็นไปตาม เป้าหมายให้ได้ จากนั้นจะส่งต่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูป แผนยุทธศาสตร์ของชาติ ซึ่งกระทรวงมีแผนอยู่แล้ว สามารถทำให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ได้ครบถ้วน ทั้งด้านกลาโหม มหาดไทย ภัยพิบัติ เรื่องสังคม ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล การเข้าถึงบริการภาครัฐ การเพิ่มศักยภาพมนุษย์ ด้านการศึกษา แรงงาน สาธารณสุข
ส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เรื่องการแข่งขัน การค้า การลงทุน อุตสาหกรรม บริการ การวางโครงข่ายที่จะเพิ่มขีดความสามารถ สร้างความเชื่อมั่น การผลักดันช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บิ๊กดาต้า กิจกรรมที่จะเสริมศักยภาพการแข่งขัน เราทำได้แน่นอน
ถัดไปคือการเสริมศักยภาพชีวิตให้ผู้คน ด้านความปลอดภัยของมนุษย์ อาทิ สมาร์ทซิตี้ ที่ต้องมีปลอดภัยทั้งในชีวิต และทรัพย์สิน การเดินทาง สิ่งแวดล้อมกรีนเทคโนโลยี พยายามจะรองรับให้ได้ครบถ้วน
สุดท้ายคือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการที่ต้องมีทั้งอีกัฟเวอร์เมนต์ ที่ทำงานภายใต้ดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพ ก้าวไปสู่รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
โดยเฉพาะในส่วนการให้บริการภาครัฐ เป็นวันสต็อปเซอร์วิส ลดค่าใช้จ่ายลดเวลา ข้าราชการต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็น ต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งกำลังทยอยออกมา ทั้งหมดต้องเสร็จในปี 2560 นี่คือเป้าหมาย
นโยบายเน็ตหมู่บ้าน โครงการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน จะมีงบประมาณ 13,000 ล้านบาท เกตเวย์ต่างประเทศ 2,000 ล้านบาท เป็นงบฯกลางที่อดีต รมต. (อุตตม สาวนายน) เสนอ ครม.อนุมัติมาแล้ว เป็นผลพวงจากรายได้การประมูลคลื่นความถี่ที่ต้องการให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ตั้งใจจะใช้เวลา 1 ปี ตอนนี้มีความก้าวหน้าในการจัดซื้อจัดจ้างพอสมควร แต่มีงานบางส่วนที่มีปัญหาเรื่องความทับซ้อนในโครงการ USO ก็ได้เคลียร์ปัญหานี้กันแล้ว
ส่วนข้อท้วงติงของ สตง.ได้รับเข้ามาเพื่อปรับปรุงแผนงานให้มีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผนงานในพื้นที่ ปริมาณงานว่าจะใช้จุดไหนบริการ ใครจะเข้ามา ดูแลระบบต่อ จากนั้นจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจที่จะเข้ามาให้บริการต่อเพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างพึงพอใจ ต้องเคลียร์ให้ชัดเจนว่า การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ให้มีหน่วยงานเข้ามาติดตาม อย่างหน่วยงานที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต จะพยายามทำให้แผนงานมีความชัดเจนถูกต้องตามกฎระเบียบตามกฎหมาย 100%
จะทำให้โครงการเสร็จในปี 2560 แม้ตอนนี้จะช้าไป 3-4 เดือนแล้ว และต้องทำให้มีความต่อเนื่องกับโครงการในปี 2560 ที่จะเพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งบรรจุไว้ในแผนงบประมาณปี 2560 เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นยืนยันว่า โครงการวางโครงข่ายในประเทศและเชื่อมต่อต่างประเทศ มูลค่า 13,000 ล้านบาท กับ 2,000 ล้านบาท เดินหน้าต่อแน่นอน แต่จะศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีความชัดเจน และการเตรียมความพร้อมให้มีการเชื่อมโยงกับคนในพื้นที่ และการเตรียมการรองรับว่าจะมีการดูแลต่อ มีความพึงพอใจ เสถียรภาพในการใช้งาน กฎกติกาต่าง ๆ ให้ชัดเจน ไม่มีความซ้ำซ้อน เรื่องแผนงานและการใช้งบประมาณ
แต่มีการยื่นซองประกวดราคาแล้ว เป็นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ดำเนินการไปแล้ว เมื่อมีข้อสงสัย เมื่อมีความต้องการให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม หรือแสดงให้ชัดเจนว่ามีความโปร่งใส ไม่เอื้อประโยชน์ ไม่ทุจริต ก็ต้องแสดงข้อมูลตรงนี้ ซึ่งอาจใช้ เวลานิดหน่อย
ต้องยื่นซองใหม่หรือเปล่า ได้ปรึกษากับปลัดกระทรวงว่าจะขอตั้งคณะทำงานขึ้นมา มีปลัดและรองปลัด กับกรรมการอีก 2-3 ท่าน ทันทีที่เสร็จจะเรียนให้ทราบว่า แต่ละออฟชั่นจะเป็นอย่างไร แต่ต้องให้เสร็จใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้
เสร็จขั้นไหน งานนี้ช้ากว่าความคาดหวังของหลายหน่วยงาน แต่เราก็รับฟังความเห็น เมื่อมีคนทักมีข้อท้วงติงมา ก็ต้องตรวจสอบและต้องพิสูจน์ให้ดูว่า สิ่งที่ทำ ก่อให้เกิดประโยชน์ชัดเจนกับประชาชน และไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณซ้ำซ้อน พิสูจน์ให้ได้ถึงความโปร่งใส อย่างไรต้องให้ลงนามในสัญญาจ้างได้ ใน 2-3 เดือนนี้ เพื่อให้โครงการเดินหน้า และเสร็จทันปี 2560
การขับเคลื่อนทีโอที และแคท เท่าที่ทราบ ทั้งแคท และทีโอที มีประเด็นปัญหาต่างกัน ทีโอที มีเรื่องค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะเรื่องกำลังคน ประเด็นเรื่อง คลื่นความถี่ การขาดทุนเมื่อหมดสัมปทานกับเอไอเอส ต้องมาหาทางให้ทีโอทีทำอย่างไรที่จะอยู่ต่อไปได้โดยไม่ขาดทุน
ฝั่งแคทยังมีเวลาไปถึงปี 2561 ไม่ได้มีปัญหาเรื่องกำลังพล เรื่องค่าใช้จ่าย หรือประเด็นที่จะขาดทุน แต่จะต้องดูอนาคตในเรื่องสิทธิ์คลื่นความถี่
เราก็ต้องมาหาแนวทางให้แคทกับทีโอที ทำอย่างไรถึงจะให้บริการตามเจตนารมณ์ของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนมีเสถียรภาพในการใช้บริการ และให้ทั้งคู่มีกำไร
มีข้อเสนอหลายเรื่อง เช่น การรวมตัวกันเพื่อปรับเปลี่ยน ซึ่งสุดท้าย คนร.ได้มีข้อเสนอเข้ามาในการปรับงานของทั้งคู่แล้ว เชื่อมั่นว่า ทั้ง 2 หน่วยจะจัดทำแผนงานตามมติ คนร.อย่างน้อย 3 ธุรกิจที่จะรวมตัวกัน เชื่อว่าจะมีประโยชน์โดยตรงกับประชาชน ทีโอที แคทกำลังทำแผนงาน
ปัญหาดาวเทียม อดีต รมต.เคยทำเรื่องเข้า ครม. 2 ครั้ง ครั้งสุดท้าย ครม.มีมติรับทราบผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของดาวเทียมไทยคม และรับทราบถึงดาวเทียม 4 5 6 ที่จะหมดสัมปทาน ซึ่งให้กระทรวงไปพิจารณาแนวทางตามหน้าที่
ส่วน 7 กับ 8 ให้พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่ ทั้งนี้ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน รัฐกับเอกชน กับกรณีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายของสัมปทานด้วย ขณะนี้ปลัดกระทรวงได้รวบรวมประเด็นเสนอแนะรัฐมนตรีแล้ว แต่มีการเปลี่ยนรัฐมนตรี ทางรักษาการก็จะเข้ามาดูแลต่อให้ จริง ๆ คือ ยังไม่ได้อ่านเลย แต่เพิ่งเห็นหัวกระดาษ หัวเรื่อง ต้องปรึกษาเพื่อหาแนวทางว่าจากนี้ จะทำอะไรบ้าง
ส่วนว่าจะเรียกเอกชนมาเจรจาเมื่อไร เป็นอีกขั้นตอนที่จะทำภายใน ต.ค.นี้ โดยต้องมีกฎหมายเป็นกรอบสำคัญ คงคุยกันได้ไม่น่ามีปัญหา
ต.ค.นี้จะสรุปได้เลย การเจรจาคงมีหลายขั้น ต.ค. คือ ขั้นแรกว่า ควรดำเนินการอย่างไรถึงจะเป็นไปตามแนวทาง PPP ขั้นตอนต่อไปคือ หลังหมดสัมปทานในปี 2564 แล้วในส่วนดาวเทียมที่ยังมีอายุการใช้งานต่อไปได้นั้นต้องทำอย่างไร ต้องมีการเตรียมการตรงนี้ไว้ อย่างไทยคม 6 ที่หมดสัมปทานแล้วยังใช้งานได้อีกราว 8 ปี ก็คือเป็นสเต็ปช่วงที่ 2 แล้วหลังจากนั้นหากจะมีดาวเทียมใหม่ในอนาคต เป็นดวงที่ 9 ดวงที่ 10 ก็ต้องมาวางแผนว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องมี ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันระดมความคิด
จริง ๆ คงเน้นคุยในส่วนของดาวเทียมไทยคม 7 กับ 8 ก่อน ดวงก่อนหน้านี้อยู่ในความควบคุมของกระทรวงอยู่แล้ว
จะนั่งรักษาการจนวางพื้นฐานเสร็จ ยังไม่ทราบ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้ ดุลพินิจ แต่ได้ขอให้ปลัดกระทรวงเตรียมแผนงานให้เสร็จใน 1 เดือน ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญมาก ระหว่างรักษาการกับ รมต. ตัวจริง ต้องไม่ก้าวก่ายกัน ทั้ง การโยกย้าย ปรับแผนงาน ขวัญสวัสดิการพนักงาน ฉะนั้นจึงบอกปลัดไปว่า ขอดูแผนงานเดือน ต.ค. ถ้ามีอะไรต้องปรับ ก็ให้ทำเท่าที่จำเป็น งบประมาณปี‘59 ต้องเร่งให้เสร็จใน 30 ก.ย. ต้องไม่มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายอะไร ก่อนต.ค. ขอให้มั่นใจว่าไม่ใช่มาเพื่อโยกย้ายหรือใช้งบประมาณ
รัฐมนตรีใหม่มาจากฝั่งความมั่นคง ดูที่ภารกิจ ไม่มีหน่วยงานในดีอี มุ่งไปที่ความมั่นคง แต่งานไอซีทีจะเน้น ไปที่ภัยพิบัติและเสถียรภาพของระบบ การดูแลข้อมูลข่าวสารของประชาชน ไม่ใช่ความมั่นคงด้านการป้องกันประเทศ แต่ในอนาคตจะมีหน่วยงานด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ที่ดูภาพรวม ทั้งด้านสิทธิเสรีภาพ และความปลอดภัยของประเทศ ส่วนใครจะมาเป็น รมต. นายกฯ เป็นผู้ใช้ดุลพินิจ เวลานี้ ไอซีทีเกี่ยวข้องกับทุกมิติทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม ศึกษา แรงงาน การอยู่ดีกินดีของประชาชน ฉะนั้นการดูแลบริหาร การขับเคลื่อน การใช้งบประมาณให้ชัดเจนโปร่งใส ส่วนความรู้ทางเทคนิค ต้องโน้มน้าวให้มีคนเก่งด้านเทคนิคเข้ามามากขึ้น ทั้งในทีโอที แคท สพธอ. สรอ. ทั้งหมดเป็นกำลังเสริม ทำงานเป็นทีม