หัวข้อข่าว ผูกคอในห้องขังดีเอสไอ-‘ฆาตกรรม‘หรือ‘อัตวินิบาตกรรม‘
ที่มา; คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559
ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย/สำนักข่าวเนชั่น
เข้าสู่ 3 สัปดาห์ หลังการเสียชีวิตของธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา ผู้ต้องหาในคดีทุจริตออกเอกสารสิทธิที่ดินนับพันแปลงในจังหวัดชายทะเลฝั่งอันดามัน ระหว่างที่หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์และพยานบุคคล ทำท่าจะเทน้ำหนักไปในประเด็นฆ่าตัวตายมากกว่าฆ่าตัดตอน
แต่ก็ต้องสวิงกลับมาสู่ความอึมครึมอีกครั้ง เมื่อผู้กำกับการ สน.ทุ่งสองห้อง เจ้าของสำนวนคดีออกมาระบุว่า “ธวัชชัย” ถูกผู้อื่นทำให้ตาย…แต่ไม่ใช่ฆาตกรรม
เหตุที่ผู้กำกับการ สน.ทุ่งสองห้อง ออกมาเปิดเผยดังกล่าวน่าจะมาจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 148 ให้คำนิยามเกี่ยวกับการตายโดยผิดธรรมชาติไว้หลายกรณี คือ 1.ฆ่าตัวตาย 2.ถูกผู้อื่นทำให้ตาย 3.ถูกสัตว์ทำร้ายตาย 4.ตายโดยอุบัติเหตุ 5.ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ ดังนั้น สิ่งที่ผู้กำกับการ สน.ทุ่งสองห้อง บอกก็คือ นายธวัชชัยตายเพราะเหตุข้อ 2 คือถูกผู้อื่นทำให้ตาย ไม่ใช่ข้อ 1 คือไม่ได้ฆ่าตัวตายโดยวิธีผูกคอตาย ซึ่งผู้กำกับการ สน.ทุ่งสองห้อง น่าจะพูดตามผลชันสูตรพลิกศพของนิติเวช รายงานให้ทราบ เพราะปกติแล้วนิติเวชจะรายงานการชันสูตรพลิกศพว่าผู้ตายตายเพราะอะไร เช่น ถูกผู้อื่นทำให้ตาย แต่จะไม่บอกว่า ใครเป็นคนทำให้ตาย และไม่บอกว่าเป็นการฆาตกรรมหรือไม่
ดังนั้นการที่ผู้กำกับการ สน.ทุ่งสองห้องบอกว่า นายธวัชชัยไม่ได้ถูก “ฆาตกรรม” จึงน่าจะดูจากหลักฐานอย่างอื่นประกอบด้วย ไม่ใช่ดูแค่เพียงรายงานการชันสูตรพลิกศพของนิติเวชเท่านั้น
ปริศนาการเสียชีวิตของ “ธวัชชัย” จึงก้าวไม่พ้นชุดคำถามวนเวียนที่ว่า เหตุใดคนผูกคอตาย กระดูกซี่โครงหัก ตับแตก กระดูกกล่องเสียงหัก โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความสับสน-สงสัย คือ เป็นการเสียชีวิตของผู้ต้องหาระหว่างการควบคุมตัวของดีเอสไอ จึงไม่แปลกที่การสอบสวนจะต้องพุ่งเป้าสอบสวนไปที่การฆาตกรรมถูกทำให้ตาย โดยจัดลำดับให้การฆ่าตัวตายเป็นประเด็นท้ายสุด
ประกอบกับใบรายงานผลการตายของนิติเวชตำรวจ ที่ระบุว่า “ธวัชชัย” ตายเพราะขาดอากาศหายใจร่วมกับตับแตก สั้นๆ ห้วนๆ โดยไม่มีคำอธิบายว่า การเสียชีวิตเกิดขึ้นก่อนการแขวนคอหรือเป็นการผูกคอตายเอง และตับแตกเกิดจากสาเหตุใด ความเสียหายของตับรุนแรงทำให้เสียชีวิตหรือไม่อย่างไร ซึ่งประเด็นเหล่านี้แพทย์ผู้ผ่าชันสูตรต้องมีคำตอบ เพราะในทางนิติเวชเคยพบในหลายครั้งว่า การพยายามปั๊มหัวใจก็ทำให้อวัยวะภายในฉีกขาดได้ โดยจะมีซี่โครงหักร่วมด้วย
ตั้งเป้ากันว่า ภายในสัปดาห์นี้คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงสาเหตุการตายจะไขปริศนาสาเหตุการเสียชีวิตของ “ธวัชชัย” โดยในประเด็นข้อสันนิษฐานเรื่องฆาตกรรม เริ่มถูกตัดทิ้งไปทีละประเด็น
เริ่มจากประเด็น “ฆ่ารัดคอ” จากรอยรัดที่เป็นเส้นเล็กๆ ที่ลำคอ ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นรอยจากการแขวนด้วยถุงเท้า ซึ่งในทางทฤษฎีกรณีฆ่ารัดคอ รอยรัดจะอยู่เหนือกล่องเสียง เฉียงขึ้นด้านบน แต่ราย “ธวัชชัย” รอยรัดอยู่ตรงกล่องเสียงพอดี ผนวกกับผลการทดสอบด้วยการถ่วงน้ำหนักกับถุงเท้าที่มีเส้นใยใกล้เคียงกับถุงเท้าที่พบในที่เกิดเหตุ พบว่ามีความเป็นไปได้ที่เส้นใยของถุงเท้าสามารถทำให้เกิดรอยเป็นเส้น ขนาดเล็กความกว้างไม่เกิน 0.5 ซม.ได้
ประเด็นต่อมา “ฆ่าแล้วเอาศพไปแขวนคออำพรางคดี” เป็นอีกประเด็นที่ตัดทิ้ง เพราะ “ธวัชชัย” ถูกช่วยชีวิตและนำตัวส่ง รพ.มงกุฎวัฒนะ และสามารถกู้ชีพจนสัญญาณชีพกลับมา 1 ครั้ง กระทั่งไปเสียชีวิตหลังเกิดเหตุ 2 ชั่วโมง อีกทั้งผู้ตายมีจ้ำเลือดในตา หมายถึงขณะแขวนคอผู้ตายยังมีชีวิต
ส่วนข้อสันนิษฐานว่า อาจมีคนร้ายเข้าไปหวังฆ่าตัดตอน โดยจับ “ธวัชชัย” แขวนคอ ก็ต้องตัดทิ้ง เพราะบานพับประตูมีความสูงไม่มาก มีมุมให้เกี่ยวแขวนไม่มากนัก หากมีการจับแขวนคอจะสามารถดิ้นรนขัดขืนได้ไม่ยาก
นอกจากนี้ผลการตรวจดีเอ็นเอไม่พบดีเอ็นเอของบุคคลอื่นในถุงเท้าผูกคอ นอกจากของ “ธวัชชัย” กับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่เข้าไปแกะถุงเท้าเพื่อช่วยชีวิต
ประเด็นต่อมา “ถูกซ้อมจนตับแตกตาย” ก็ตัดทิ้ง เพราะเมื่อ “ธวัชชัย” ถูกนำตัวมาถึง รพ.มงกุฎวัฒนะ ภาพเอกซเรย์ของ รพ.มงกุฎวัฒนะเวลา 02.20 น. ไม่มีรอยหักของกระดูกซี่โครง แต่ผลชันสูตรศพระบุว่ากระดูกซี่โครงข้างขวาและซ้ายหักซี่ที่ 2-6 และซี่ที่ 2-7 บ่งชี้ว่าซี่โครงหักและตับแตกไม่ได้เกิดที่ดีเอสไอ ส่วนใครทำให้หักอย่างไรต้องไปสอบสวนให้กระจ่างชัด
เวลานี้คงเหลือเพียงประเด็น “กระดูกกล่องเสียงแตกหัก” ซึ่งผิดไปจากธรรมชาติการผูกคอฆ่าตัวตาย และมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 7% ของการผูกคอตาย ซึ่งในจุดนี้นิติเวช ตำรวจไม่ได้ถ่ายภาพเอกซเรย์ไว้ จึงต้องไขปริศนาด้วยเทคนิคเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ โดยเครื่องเอกซเรย์ถูกสั่งซื้อเข้ามาใช้ในประเทศไทยได้ระยะหนึ่งแล้ว ถูกนำมาใช้งานทั้งของนิติเวชตำรวจและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
เพียงแต่รอบนี้จะเป็นครั้งแรกที่นำมา สแกนศพที่ผ่านการผ่าชันสูตรมาแล้ว โดยการทำงานของเครื่องจะคล้ายกับการสแกนคอมพิวเตอร์ในทางการแพทย์ แตกต่างเพียงนำมาใช้กับศพ ข้อดีสามารถมองเห็นละเอียดได้มากกว่าตาเปล่า โดยจะสามารถเห็นเส้นเลือด ชั้นกล้ามเนื้อและกระดูก ในต่างประเทศใช้กับศพเน่าเปื่อยยากต่อการผ่าพิสูจน์และศพผู้ต้องขังที่เสียชีวิตในเรือนจำหรือตายระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจกระดูกทั่วร่างว่ามีรอยแตกหักหรือไม่อย่างไร
คณะกรรมการกระทรวงยุติธรรมจึงขอให้นำร่างของธวัชชัยออกมาสแกนสามมิติ เพื่อให้เห็นกระดูกทั่วร่าง โดยโฟกัสไปที่กระดูกคอตำแหน่งกล่องเสียง เพื่อตอบทุกคำถามและทุกข้อสงสัย
ด้าน พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็พร้อมส่งเทปกล้องวงจรปิดที่บันทึกรายละเอียดการช่วยชีวิต “ธวัชชัย” จนถึงการส่งศพไปยังสถาบันนิติเวช ตั้งแต่เวลา 02.31-07.51 น. รวมความยาวกว่า 5 ชั่วโมง ไล่เรียงกันแบบละเอียดยิบเพื่ออธิบายว่า ตลอดการกู้ชีพ “ธวัชชัย” มีการปั๊มหัวใจเกิดขึ้นเพียง 3 ครั้ง และตลอดเวลาที่อยู่ในหน่วยอภิบาล ผู้ป่วยวิกฤติไม่มีเหตุการณ์ใดที่แสดงให้เห็นถึงภยันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อตับของ “ธวัชชัย” โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เวลา 02.31 น. เจ้าที่พยาบาลกำลังเตรียมเตียงหมายเลข 5 เพื่อการรับตัวนายธวัชชัย
เวลา 02.51 น. ถูกลำเลียงมาถึงเตียงหมายเลข 5 (หลังจากที่ได้เอกซเรย์เมื่อเวลา 02.20 น.แล้ว โดยไม่พบว่ามีซี่โครงหัก)
เวลา 03.20 น. ขณะทำการฟื้นคืนชีพ (CPR) หรือปั๊มหัวใจครั้งที่ 1 เป็นเวลา 30 วินาที
เวลา 03.27-03.29 น. ขณะทำการฟื้นคืนชีพ (CPR) หรือปั๊มหัวใจครั้งที่ 2 เป็นเวลา 2 นาที
เวลา 03.39-03.41 น. ขณะทำการฟื้นคืนชีพ (CPR) หรือปั๊มหัวใจครั้งที่ 3 เป็นเวลา 2 นาที
เวลา 05.01 น. ขณะน้องชายของนายธวัชชัยมาอำลาศพ
เวลา 05.27 น. ขณะญาติผู้หญิง 2 คนของนายธวัชชัยมาอำลาศพ
เวลา 07.43-07.49 น. ขณะเจ้าหน้าที่พยาบาลปลดเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ออกจากร่างกาย
เวลา 07.51 น. ย้ายศพออกจากเตียงหมายเลข 5 เพื่อส่งศพไปยังสถาบันนิติเวช
อลหม่านกันขนาดนี้ น่าจะเดินมาในจุดเหมาะสมที่ “แพทย์ผู้ผ่าชันสูตรครั้งแรก” จะออกมาอธิบายไขความกระจ่างให้สังคมเสียทีว่า กรณี “ธวัชชัย” ผูกคอ ตับแตก ซี่โครงหัก กล่องเสียงแตก จะเกิดจากมีผู้อื่นทำให้ตาย หรืออัตวินิบาตกรรม(ฆ่าตัวตาย)…เชื่อว่าจะมีคำตอบออกมาภายในเร็วๆ นี้