หัวข้อข่าว: กทม. เปิดศึก 2 ฝ่าย สภา-ผู้บริหาร ยื้อกันวินาทีสุดท้าย ยังไม่ประกาศใช้งบปี 60 ฝ่ายบริหารใช้งบไม่สมควร หรือ สภา กทม. ไม่มีอำนาจตัด
ที่มา: เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559
เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จาก 3 ปีล่าสุด ในปี 2558-2560 พุ่งจาก 6.5 หมื่นล้านบาท เป็น 7 หมื่นล้านจนถึงล่าสุดขึ้นมาสูงถึง 7.5 หมื่นล้านบาท แม้ทุกครั้ง กทม.จะจัดเก็บรายได้ไว้เพียงพอกับงบประมาณที่ขอจัดสรรก็ตาม ก็มีบางครั้ง ที่ใช้จ่ายอย่างสบาย ๆ บางครั้งใช้จ่ายอย่างตึง ๆ พอดิบพอดี หรือมีบ้างที่หากเจอปัญหาเฉพาะหน้าก็ต้องขอใช้งบสะสมที่มีอยู่หรือขอเพิ่มเติมจากรัฐบาลในส่วนที่รัฐบาลสั่งการ จึงไม่ค่อยพบว่ามีปัญหาอะไรจนน่าตกใจ จนหน่วยงานอื่น ๆ มักจะมองว่า กทม.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่ำรวยเสมอ
จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เมื่อสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่มาจากการแต่งตั้ง จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จำนวน 30 คน มาทำหน้าที่แทน ส.ก. เลือกตั้งที่หมดวาระ ไปในปี 2558 ซึ่งหลายฝ่าย ตั้งข้อสังเกตว่าจะมีความเชี่ยวชาญในการพิจารณาหรือไม่ แต่การพิจารณางบประมาณ ครั้งแรก ในปี 2559 ก็ไม่มีปัญหาอะไร มีเพียงการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาถึง 16 คณะ แบ่งตามสายงาน เพื่อความรอบคอบ ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมาที่จะตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯพิจารณางบเพียงชุดเดียวเท่านั้น ซึ่งการพิจารณาก็ผ่านไปด้วยดี
แต่สำหรับงบประมาณปี 2560 กลับไม่เป็นอย่างที่ผ่านมา อาจจะเป็นเพราะ ส.ก.ชุดเฉพาะกิจนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับสูง ประสบการณ์แน่น ได้ทำความเข้าใจในเรื่องงบประมาณ กทม.หรือได้ทำความรู้จักกับผู้บริหาร รวมถึงการทำงานของ กทม.มาในระดับหนึ่งแล้ว เลยทำให้งบประมาณปี 2560 ไม่ได้ ง่าย ๆ หรือกินหมูอย่างที่ผ่านมา
ที่ผ่านมาสภา กทม.ซึ่งเป็น ส.ก.ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ก็เคยมีการตัดงบประมาณจากที่เสนอไปในวาระแรก เป็นปกติ แต่จะมีการแปรญัตติกลับเข้ามาในวาระ 2 และ 3 เช่นเดียวกัน คือเมื่อมีการตัดงบแล้วมีการแปรกลับเข้ามาด้วยการปรับโครงการเก่าหรือเปลี่ยนเป็น โครงการใหม่ก็ตาม จะผ่านในวาระที่ 2 และ 3 เสมอ ไม่ถูกตัดแม้ แต่น้อย
แต่ ส.ก.ที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล คสช.นี้ กลับไม่ได้ทำตามประเพณีอย่างที่เคยเป็นมาตลอด โดยบรรดา ส.ก. ต่างก็พากันให้เหตุผลว่า ส.ก. ชุดนี้มาทำหน้าที่ตรวจสอบตามที่ คสช.มอบหมายมา ที่สำคัญการใช้งบประมาณทำโครงการต่าง ๆ ของ กทม. ส.ก. ชุดนี้ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือได้ประโยชน์อะไร มีเพียงประชาชนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ งบแปรต่าง ๆ ที่อดีต ส.ก.เคยมีส่วนร่วมไม่ว่าวิธีใดก็ตาม สำหรับ ส.ก.ชุดนี้ไม่ได้มีส่วนร่วมใด ๆ นอกจากพิจารณาว่าเหมาะสมหรือ มีประโยชน์หรือไม่เท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องผ่านงบประมาณในโครงการที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็น เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้เกิดการเปิดศึกที่แท้จริงระหว่างฝ่ายบริหาร กทม.และฝ่ายตรวจสอบอย่างสภา กทม.ในการพิจารณางบประมาณปี 2560
สำหรับประมาณการรายรับประจำปี 2560 นี้ กทม. ตั้งไว้ที่ 76,577,417,000 บาท ผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ได้ตัดและปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ลงรวมจำนวนทั้งสิ้น941,595,500 บาท จึงเหลืองบประมาณรายจ่ายในปี 60 ทั้งสิ้น 75,058,404,500 บาท ทำให้งบประมาณในปี 60 จึงเป็นงบประมาณรูปแบบงบเกินดุลหรือมีเงินรายรับมากกว่ารายจ่าย หากจัดเก็บรายได้ถึง 76,000 ล้านบาทจริง จะเหลือไว้เป็นเงินสะสมของ กทม. เมื่อมีความจำเป็นจะสามารถขออนุมัตินำมาได้ แต่ฝ่ายบริหาร กทม. ไม่คิดอย่างนั้น กลับมีความคิดเห็นว่า เมื่อมีเงินอยู่แล้วทำไมสภา กทม. จึงตัดงบประมาณในบางโครงการออกไป
ซึ่งความจริงแล้วงบประมาณที่ขอไปทั้งหมดกว่า 76,000 ล้านบาทนั้น คณะกรรมการฯ พิจารณาปรับลดไปถึง 2,500 ล้านบาท แต่มีการแปรญัตติปรับปรุงเข้ามาใหม่ จนเหลือที่ตัดไปเพียง 941 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งในจำนวนงบ 941 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ จากหลากหลายหน่วยงาน แต่โครงการใหญ่ ๆ ที่ถูกตัดไป ได้แก่ การจัดซื้อเครื่องดนตรี ของสำนักการศึกษา และโครงการจัดหาและติดตั้งกล้องซีซีทีวี ของสำนักการจราจรและขนส่ง ซึ่งมีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของงบที่ถูกตัดไป จึงทำให้แม้จะผ่านวันลงนามผ่านร่างข้อบัญญัติฯจาก ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภา กทม ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย. 59 แล้ว จนถึงขณะนี้ฝ่ายบริหารที่ต้องลงนาม คือนางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะรักษาราชการแทน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ที่ถูกพักงานไป ก็ยังไม่ได้ลงนามเพื่อประกาศใช้ภายใน 30 วันตามกำหนด โดยให้เหตุผลว่าสภา กทม.ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ ไม่มีอำนาจในการตัดงบประมาณที่ผ่านการเสนอในวาระแรกแล้ว และงบประมาณบางส่วนที่ตัดออกไปเป็นงบโครงการต่อเนื่องที่สร้างภาระผูกพันแก่ กทม.แล้วหากไม่ดำเนินการอาจจะเกิดผลกระทบหรือสร้างความเสียหาย แก่ กทม.ได้ ส่วนงบประมาณที่ต้องใช้ก่อนเช่นเงินเดือนค่าจ้างหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กทม.สามารถใช้งบปี 2559 ที่เหลืออยู่ใช้ไปก่อนได้ เมื่อได้ข้อสรุปจึงประกาศใช้ก็ไม่น่ามีปัญหา เท่ากับยืนยันว่ายังไงก็ต้องคืนงบที่ตัดไปให้
ในขณะที่ฟากสภา กทม.เองกลับเห็นว่าสภามีสิทธิลดหรือตัดงบประมาณที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นตามลำดับความสำคัญรวมถึงโครงการที่ถูกตรวจสอบการทุจริตซึ่งโครงการที่ต้องตัดไปนั้นบางส่วนเป็นโครงการที่ถูกร้องเรียนเรื่องการทุจริตการจะปล่อยให้ใช้งบประมาณทั้งที่ยังมีข้อกังขาย่อมสร้างความเสียหายให้สภาด้วยเช่นกันหากการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตจริงสภากทม.อาจได้รับผล กระทบที่ปล่อยให้งบประมาณผ่านการพิจารณามาได้โดยไม่มีการ ยับยั้ง’นอกจากนี้งบประมาณที่ถูกตัดไปหากฝ่ายบริหารเห็นว่ามีความจำเป็นก็สามารถของบประมาณเพิ่มเติมในส่วนของเงินสะสมหรืองบกลางได้ไม่มีความจำเป็นจะต้องยืดเยื้อเพื่อให้การประกาศใช้งบประมาณล่าช้าและหากมีความผิดใด ๆ เกิดขึ้นฝ่ายบริหารก็มีข้อมูลหลักฐานอยู่แล้วว่าไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากสภาทักท้วงซึ่งมีทางออกอยู่แล้วหลายทางจึงไม่เห็นความจำเป็นที่ฝ่ายบริหารจะไม่ลงนามเพื่อประกาศใช้งบประมาณ”
แนวทางที่สามารถดำเนินการได้ต่อจากนี้ นอกจากฝ่ายบริหารจะลงนามยอมรับงบประมาณเท่าที่ได้มาอย่างหวานอมขมกลืนแล้ว ก็คือการขอให้สภา กทม.พิจารณาใหม่ โดยเสนอก่อนครบกำหนด 30 วันนี้ และหากได้รับงบประมาณเต็มจำนวนที่ขอไปแต่คราวแรก ก็ต้องยอมใช้งบประมาณล่าช้าออกไป หรือหากฝ่ายสภา ยังคงยืนยันที่จะตัดงบประมาณเหมือนเดิมและฝ่ายบริหารไม่ยอมลงนามประกาศใช้ ฝ่ายสภาก็สามารถเปิดสภาวาระพิเศษเพื่อขอเสียงสมาชิกไม่เกิน 3 ใน 4 ให้ประธาน ส.ก.ลงนามแทนฝ่ายบริหารได้
ต่างฝ่ายต่างอ้างความถูกต้องและเหมาะสมยื้อกันจนวินาทีสุดท้ายถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปและจะครบประกาศใช้1ต.ค.แล้ว…กทม.ช่วงนี้มีแต่ความวุ่นวายและตื่นเต้นทุกวินาทีเลยจริง ๆ.