บททดสอบ

หัวข้อข่าว: บททดสอบ

ที่มา: คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

 

แม้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม หรือที่เรียกขานตามคำบอกกล่าวของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ว่า กฎหมายปราบทุจริตสามชั่วโคตร หลังจากได้ปรับลดขอบเขตครอบคลุมการกระทำผิดของตัวบุคคลที่เกี่ยวกับคดีไม่หยุมหยิมจนเกินไปลงจากเจ็ดชั่วโคตร อย่างที่เคยยกตัวอย่าง “ยาแรง” กันมาก่อนหน้าว่า ข้าราชการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือที่สถานที่ทำงาน หรือใช้ซองเอกสารราชการที่มีตราครุฑใส่เงินช่วยงานแต่งงานจะมีความผิดฐาน “ยักยอกของหลวง” ด้วยหรือไม่ ออกไป แต่เนื้อหาสาระหลักที่คงอยู่ก็ต้องถือว่าคงความเข้มข้นในระดับที่น่าจะเป็นธงนำหยุดยั้งผลประโยชน์ทับซ้อนได้

 

เป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศไทยถูกครอบงำด้วยระบบอุปถัมภ์มาเป็นเวลาช้านาน จนฝังรากลึกกลายเป็นวัฒนธรรม การกระทำหลายอย่างที่ถูกบัญญัติให้เป็น “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “ผลประโยชน์ส่วนรวม” ก็คือกิจกรรมที่กำลังเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและปกติในสังคม โดยเฉพาะในแวดวงการเมืองตั้งแต่ระดับชาติลงไปถึงระดับท้องถิ่น อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งย้ายข้าราชการท้องถิ่นเพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาทุจริตประพฤติมิชอบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่เป็นที่รับรู้กันว่า นายกรัฐมนตรีและคสช.จะเดินหน้าหยุดยั้งระบบอุปถัมภ์ ทั้งด้วยอำนาจพิเศษ และกฎหมายปกติที่จะมีผลบังคับใช้ตามมา

 

แต่ถึงกระนั้น ในห้วงเวลาเดียวกันนี้ กลับเกิดกรณีอันเป็นที่ชวนฉงนสงสัยในเรื่อง “ระบบอุปถัมภ์” และ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ขึ้นกับ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม กรณี “ฝายแม่ผ่องพรรณ” ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างติดป้ายชื่อนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา ภริยา พล.อ.ปรีชา โดยอำนวยความสะดวกการก่อสร้างของ “คนและงบหลวง” บานปลายไปถึงเรื่องที่บริษัทขนาดเล็กของบุตรชาย พล.อ.ปรีชาได้รับประมูลโครงการมูลค่ากว่าร้อยล้านบาทของกองทัพภาคที่ 3 จนเกิดคำถามขึ้นทั่วบ้านทั่วเมืองในท่วงทำนองปากว่าตาขยิบ ทั้งที่กรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับ พล.อ.ประยุทธ์แม้แต่น้อย นอกเสียจากความผูกพันทางสายเลือด แต่ก็มีเค้าว่าจะเข้ากันได้กับกฎหมายสามชั่วโคตรด้วยเหมือนกัน

 

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมาแล้ว 2 ครั้ง ว่า จะไม่ปกป้องพล.อ.ปรีชา และครั้งหลังนั้นออกปากว่า “ถ้าจะถามว่ารักน้องไหม ก็ต้องบอกว่ารัก แต่เป็นเรื่องที่ช่วยอะไรไม่ได้” ย่อมเป็นเรื่องที่สังคมคงไม่อคติเกินกว่าจะเข้าใจได้ว่า เป็นการกระทำของแต่ละบุคลที่จะต้องรับผิดชอบทางกฎหมายเอาเอง เมื่อเรื่องถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว ก็ถือว่าเริ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องสืบสวนสอบสวนกันต่อไป แม้พล.อ.ปรีชาจะเกษียณอายุราชการในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า หรือแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์จะหมดอำนาจหน้าที่ทางการบริหารบ้านเมืองไปแล้วเช่นกัน แต่กรณีนี้ ป.ป.ช.จะต้องตั้งมั่นด้วยเที่ยงธรรมเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า กฎหมายการขัดกันของผลประโยชน์นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อการปฏิรูปประเทศโดยแท้จริง