ปฏิรูปปัญหารักษาพยาบาลชูคนนอกเป็นกก.แพทยสภา

หัวข้อข่าว: ปฏิรูปปัญหารักษาพยาบาลชูคนนอกเป็นกก.แพทยสภา

ที่มา: ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

 

ไทยโพสต์ * เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ชง 3 ข้อแก้ กม.วิชาชีพเวชกรรม ให้คนนอกเป็นกรรมการแพทยสภาได้ ลดจำนวนเพื่อความคล่องตัว อยู่ได้ 2 วาระ วาระละ 2 ปี เล็งยื่นรายชื่อ 15,000 รายหนุนปฏิรูปแพทยสภาให้ประธาน สนช. วันที่ 29 ก.ย.ที่รัฐสภา

 

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ก่อตั้งขึ้นจากความต้องการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ ขณะนี้ตนและเครือข่ายได้ผลักดันแก้ไขพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เพราะที่ผ่านมามีประชาชนเข้าร้องเรียนปัญหาจากการรักษาพยาบาล ส่วนใหญ่พบปัญหาจากโรงพยาบาลเอกชน เช่น การโกงบิลค่ารักษาพยาบาล เมื่อร้องเรียนไปยังแพทยสภากลับได้คำตอบว่าไม่มีมูล เห็นว่ากรรมการแพทยสภาจากโรงพยาบาลเอกชนนั้นมีการปกป้องสิทธิของตนเอง ไม่ปกป้องและช่วยเหลือประชาชน ตนจึงเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว 3 ข้อด้วยกัน ดังนี้ 1.ให้คนนอก เข้ามาเป็นกรรมการแพทยสภาได้ 2.ลดจำนวนกรรมการแพทยสภาลงเพื่อให้เกิดความคล่องตัว 3.กำหนดให้มีวาระของกรรมการได้ 2 วาระ วาระละ 2 ปีเท่านั้น

 

“พบว่าในต่างประเทศหลายประเทศมีคนนอกเข้ามาเป็นกรรมการในแพทยสภา เช่น ประเทศอังกฤษเข้ามาเป็นกรรมการเลย ไม่ไช่เพียงอนุกรรมการ โดยแบ่งสัดส่วนของคนในวิชาชีพและคนนอกเป็น 50 ต่อ 50 คิดว่าประเทศไทยสามารถทำได้อาจจะมีการปรับใช้จากประเทศที่มีบริบทใกล้เคียงมาเป็นแบบอย่าง ขณะนี้เปิดให้ผู้ที่เห็นด้วยลงรายชื่อที่เว็บ

www.change.org/FreeMedicalCouncil มีผู้ลงชื่อแล้ว 15,000 ราย ทั้งจากกลุ่มหมอที่ชอบและไม่ชอบตน โดยจะนำรายชื่อไปยื่นให้กับประธาน สนช.ที่รัฐสภา ในที่ 29 กันยายนนี้   การที่แพทยสภาออกมาคัดค้าน มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะประเทศอื่นกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมีการคัดค้าน แต่สุดท้ายเปลี่ยนแปลงได้ ความพยายามเรียกร้องให้ปฏิรูปแพทยสภานั้น เพราะมีประชาชนจำนวนมากได้รับความเสียหาย อยากให้ปรับโครงสร้างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย” นางปรียนันท์กล่าว.