อ่วม!กขช.24รายส่อชดใช้แสนล.

หัวข้อข่าว อ่วม!กขช.24รายส่อชดใช้แสนล.

ที่มา; ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559 

 

ไทยโพสต์ * โดมิโนจำนำข้าวเริ่มแล้ว “ประยุทธ์” โยน “อภิศักดิ์” ลงนามแทนเหมือนพาณิชย์ สั่ง ศอตช.เป็นเจ้าภาพไล่เบี้ยค่าเสียหายอีก 80% หรือ 142,869 ล้านบาท เผยมี 850 คดีเกี่ยวพัน แจงกรรมการ กขช. 24 รายซวย ส่อแววแบกภาระแสนล้าน อึ้ง! รายชื่อมีทั้ง “รมว.คมนาคม-ปลัดพลังงาน-รองประธาน สปท.” เอี่ยวด้วย แก๊งจีทูเจี๊ยะอาจโดนดาบสอง “ไก่อู” แจงมี 33 จังหวัดทุจริต เจ้าหน้าที่และเอกชนต้องเซ่นสังเวย

 

เมื่อวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการใช้มาตรา 44 ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวว่า เป็นการอำนวยความเป็นธรรมให้ฝ่ายกฎหมาย ศาล กระบวนการยุติธรรมทำงาน ไม่ได้ใช้อำนาจชี้ผิดชี้ถูก เพียงแต่ ป้องกันเจ้าหน้าที่ไว้ เพราะเขาไม่กล้า เนื่องจากที่ผ่านมามีการขู่เยอะไปหมด ดังนั้นต้องมีมาตรา 44 เพื่อปกป้องข้าราชการ แต่ไม่ ใช่เพื่อปกป้องให้เขารังแกคน แต่เพื่อให้เขากล้าทำงาน ไม่เช่นนั้นก็มีปัญหาในการทำ งานวันข้างหน้า

 

ยืนยันว่าทุกคดีไม่เคยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่รออยู่แล้วทั้งหมด มาตรา 44 ผมไม่ได้ไปชี้ผิดถูก ไม่ได้เอามาตัดสินโครงการรับจำนำข้าว แต่เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะผิดจะถูกไปสู้กันตรงนั้น ตามหลักฐานที่มีอยู่ และไม่ต้องห่วงเรื่องระยะเวลาดำเนินการทันอยู่แล้ว เวลานี้อยู่ในขั้นตอนของกระทรวงการคลังที่ดำเนินการให้ทันเวลาแน่ นอน ลักษณะเดียวกับกระทรวงพาณิชย์” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ในส่วนการเรียกค่าเสียหาย 80-20 นั้น คือ 80% เป็นเรื่อง หลายส่วนที่ต้องมารับผิดชอบไม่ใช่ข้าราชการทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดมี 850 คดีที่ต้องหาผู้มารับผิดชอบ ส่วน 20% นั้นรับผิดชอบทางนโยบาย ฉะนั้นจะมีทั้งระดับสูง ระดับกลางที่เกี่ยวข้อง โดยยืนยันว่าไม่ได้รังแกข้าราชการ แต่อยากให้เป็นบทเรียนให้รู้ว่าอะไรผิดถูก จะได้ไม่คล้อยตามไปหมดยืนยันว่าพยายามเต็มที่ ในการแก้ไขปัญหาประเทศชาติให้ได้โดยเร็ว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะลงนามเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำลังดูอยู่ ถ้ามันคล้ายคลึงกันกับกรณีจีทูจี ก็มอบหมายให้รัฐมนตรีลงนาม ซึ่งรัฐมนตรีก็สามารถมอบต่อได้เหมือนคดีของกระทรวงพาณิชย์

 

ถามต่อว่า เหตุผลที่ไม่ลงนามเองคืออะไร นายกฯ กล่าวว่า เขาบังคับให้ลงนามเองหรือเปล่า และจริงๆ ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวง ข้าราชการเป็นคนรับผิดชอบ เพราะเป็นกรรมการตรวจสอบ ฉะนั้นรัฐมนตรีหรือนายกฯ ก็เซ็นในนามผู้บริหารราชการสามารถมอบหมายกันได้ โดยมี 2 ขั้นตอน และต้องดำเนินการให้ทันเดือน ก.พ.ปี 2560 เพราะคดีจะหมดอายุความตอนนั้น ยังไงก็ต้องทำ

 

ขอให้เข้าใจว่าการทำงานไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องตรวจสอบทุกคลัง ตรวจสอบบัญชี ไล่หาทุกที่ ทุกคลังไม่ตรงกัน ทั้งข้าวหอมข้าวขาวกลายเป็นข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิกลายเป็นปลายข้าว” นายกฯ กล่าว

 

เมื่อถามว่า จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูในเรื่องการเรียกค่าเสียหายร่วม 80% หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมมีอยู่แล้ว ซึ่งส่วนนี้มีทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และฝ่ายการเมืองส่วนต่างๆ เรื่องนี้มีหลายคดี และรัฐมนตรีก็ทำในสิ่งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เตือน แต่ไม่ระงับยับยั้ง และในส่วนการทุจริตข้างล่างก็ต้องมีผู้รับผิดชอบเพิ่ม รวม 850 คดี เวลานี้มอบหมายให้ ศอตช.ไปดูเรื่องการบริหารข้างบนว่าใครต้องตรวจสอบบ้างเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และจะเป็นการทำงานร่วมกับฝ่ายกฎหมายด้วย

 

แนะปูเลิกฟังทะแนะ

 

ถามถึงกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ระบุว่าจะลากนายกฯ ขึ้นศาลในกรณีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า รอลากตอนที่ตัวเองออกจากคุกมาก่อนแล้วกัน ไม่กลัว เพราะเป็นการทำหน้าที่ แต่หลังจากกระบวนการนี้จบสิ้น จะโดนอะไรกลับหรือไม่นั้นไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย และไม่ได้จบกฎหมาย แต่จะมาทำอะไรได้ก็ช่างเถอะ ถ้ากลัวก็ไม่เข้ามาหรอก ไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าเหรอ มีใครกล้าทำบ้าง แต่ต้องทำเพราะรับผิดชอบอยู่ตอนนี้ ถ้าไม่ทำก็มีปัญหา ซึ่งกลัวคดีอย่างนี้มากกว่า ไปแก้คดีตัวเองให้จบก่อนมาฟ้อง

 

ส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอให้ยกเลิกมาตรา 44 ในการยึดทรัพย์นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้พูดหลายรอบแล้ว คำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างไม่หวาดกลัว เพราะวันหน้าเขายังอยู่ในราชการ จะถูกรังแกหรือเปล่า นักการเมืองเข้ามาจะเป็นอย่างไร ส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็ต้องไปถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถ้าเข้าใจคงไม่มีเรื่อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจฟังคนรอบข้างมากไปหน่อย พวกทนายทะแนะตัวดีนัก

 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวประเด็นนี้เช่นกันว่า พูดไปหลายครั้งแล้ว ไม่ขอพูดอีก เป็นคนละเรื่อง อยากให้คิดดูว่าถ้าไม่ใช้อำนาจมาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีไปยึดทรัพย์ สุดท้ายก็มีคนยึดทรัพย์อยู่ดี อยู่ที่ว่าจะให้ใครยึดเท่านั้น อำนาจกระทรวงปกติมีอย่างไร อำนาจของกรมบังคับคดีมีเช่นนั้น

 

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง กล่าวว่า ได้รับรายงานสรุปจากคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง กรณีเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 35,717 ล้านบาท จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้วเมื่อวันที่ 23 ก.ย. และได้ส่งต่อให้นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังไปดำเนินการในขั้นตอนธุรการ หากต้องให้ รมว.การคลัง เซ็นลงนามคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายดังกล่าวก็จะดำเนินการต่อไป

 

นายอภิศักดิ์กล่าวอีกว่า การเรียกค่าเสียหายส่วนที่เหลืออีก 80% วงเงิน 142,869 ล้านบาท ได้หารือกับนายวิษณุแล้ว ระบุว่ามีผู้เกี่ยวข้องกว่า 800 คดี รวมพื้นที่ 33 จังหวัดที่มีการทุจริต ซึ่งไม่ใช่แค่ส่วนราชการ แต่รวมถึงภาคเอกชน โรงสี บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) ผู้รับฝากข้าว องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตทำให้รัฐเสียหาย

 

เมื่อถามว่า ถ้านายกฯ มอบให้เป็นผู้ลงนามในคำสั่งพร้อมหรือไม่ นายอภิศักดิ์นิ่งก่อนตอบว่า “อยู่ตามขั้นตอน”

 

ศอตช.เจ้าภาพไล่เบี้ย

 

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายวิษณุได้อธิบายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในค่าเสียหายโครงการรับจำนำว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบ 20% จำนวนเงิน 35,717 ล้านบาท ส่วนความเสียหายอีก 80% จำนวน 142,869 ล้านบาท จะต้องตรวจสอบต่อ ซึ่ง 80% มีเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับปฏิบัติและเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องรวม 850 คดี ครอบคลุม 33 จังหวัด เช่น ใน จ.กำแพงเพชร มีกว่า 100 คดี จ.นครสวรรค์ 200 คดี ซึ่งมีทั้งคดีการทุจริต การรับข้าวผิดประเภท ข้าวหาย และการลงจำนวนไม่ตรง ฯลฯ โดยคดีทั้งหมดอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคดีเหล่านี้มาจากการตรวจสอบจากคณะกรรมการที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน

 

อีกส่วนที่ต้องตรวจสอบคือเจ้าหน้าที่ระดับนโยบาย ว่ามีใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง โดย ครม.เห็นชอบให้ ศอตช.เป็นเจ้าภาพประสานงาน ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ท. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ ป.ป.ช. เพื่อสอบสวนในระดับนโยบาย ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง แล้วนำผลพิจารณาในระดับนโยบายมาพิจาณาร่วมกับระดับฝ่ายปฏิบัติด้วย”

 

พล.ต.สรรเสริญกล่าว

 

รายงานข่าวแจ้งว่า การพิจารณาแนว ทางผู้รับผิดชอบความเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 กำหนดสัดส่วนไว้ชัดเจน โดยกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้อนุมัติขั้นสูงต้องรับผิดชอบในอัตรา 20% และที่เหลือ 80% เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการที่พิจารณาโครงการรับจำนำข้าว 60% และอีก 20% ที่เหลือเป็นความรับผิดชอบของผู้ผ่านงานชั้นต้นและชั้นกลาง

 

โดยจากเงื่อนไขดังกล่าว ผู้ที่เป็นคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะถูกเรียกค่าเสียหายในส่วน 60% หรือ 1.068 แสนล้านบาท และอีก 20% หรือ 3.56 หมื่นล้านบาท จะเป็นส่วนรับผิดชอบของ รมว.พาณิชย์ รองนายกรัฐมนตรี รวมถึง ครม. เพราะเป็นผู้อนุมัติในลำดับรองลงไป และความรับผิดทางละเมิดอาจไม่จบแค่ กขช. รัฐมนตรี หรือ ครม. แต่อาจไปถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการจำนำข้าว ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน อคส.  อ.ต.ก. และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์ในทางไม่สุจริต เช่น โรงสี เซอร์เวเยอร์ โกดังกลาง และในระดับจังหวัดด้วย

 

เปิดรายชื่อ 24 กขช.

 

สำหรับ กขช.ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการรับจำนำ มี 24 คน ตามคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 153/2554 เรื่องการแต่งตั้ง กขช. ลงวันที่  8 ก.ย.2554 ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประธาน กขช., นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, นายธีระ วงศ์สมุทร อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง, นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์, นายบัณฑูร สุภัควนิช อดีต เลขาธิการนายกฯ, น.ส.สุพัตรา ธนเสรีวัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ, นายวิเชียร ชวลิต อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน, นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายจตุรงค์ ปัญญาดิลก อดีตปลัดสำนักนายกฯ, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปัจจุบันเป็น รมว.คมนาคม, น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปัจจุบันเป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

 

พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.พาณิชย์, ดร.ชาญคณิต กฤตยา สุริยะมณี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.ทรงพร หาญสันติ ผู้ช่วยศาสตรา จารย์ ภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ดร.พีรสิทธิ์ คำ นวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นายสุทธิกฤษฏิ์ ถนอมบูรณ์เจริญ, นายจักรพงษ์ แสงมณี, นายบรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์, นายราเชนทร์ พจนสุนทร รองปลัดกระทรวงพาณิชย์, นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน, นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว

 

ส่วนหน่วยงานปฏิบัติในระดับกระทรวงพาณิชย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะดูแลนโยบาย กรมการค้าภายในในฐานะหน่วยงานต้นเรื่องจัดทำโครงการ และผู้ที่อยู่ในข่ายถูกเรียกร้องค่าเสียหาย จะเริ่มตั้งแต่อธิบดี รองอธิบดี ไล่ลงไปจนถึงระดับผู้อำนวยการกอง และเจ้าหน้าที่ ส่วน อคส. และ อ.ต.ก. ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ โดยผู้อยู่ในข่ายจะเริ่มตั้งแต่ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ เรื่อยลงมาจนถึงหัวหน้าคลัง และเจ้าหน้าที่

 

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ปล่อยปละละเลยโครงการรับจำนำข้าวจนเกิดความเสียหายให้ชดใช้คืนรัฐกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท แสดงถึงการใช้อำนาจอย่างไร้ความยุติธรรม เพราะ ป.ป.ช.ไม่ได้ตั้งข้อหาทุจริต อีกทั้งใช้คำสั่งการปกครองเพื่อยึดทรัพย์นั้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง เพราะศาลยังไม่วินิจฉัย คาดว่า มิ.ย.2560 การไต่สวนคดีในชั้นศาลจะสิ้นสุด แต่กลับมาเร่งรีบใช้คำสั่งทางปกครองเพื่อยึดทรัพย์ จึงสะท้อนถึงการทำหน้าที่โดยปล่อยปละละเลยให้ความยุติธรรมอย่างชัดเจน และยังชี้ถึงในอนาคตพรรคการเมืองจะออกนโยบายช่วยเหลือชาวนาย่อมทำได้ยาก

 

ถ้า ป.ป.ช.ยุติธรรมจริง ควรใช้มาตร ฐานกล่าวหากำไร-ขาดทุน แบบโครงการรับจำนำข้าวไปตรวจสอบทุกโครงการของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าอดีตนายกฯ แทบทุกคน ต้องถูกข้อหาปล่อยปละละเลยเช่นเดียวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์” นายจตุพรกล่าว และว่า ในประวัติศาสตร์มีบทเรียนให้ผู้มีอำนาจมาแล้ว จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตผู้นำทำรัฐประหาร มีอำนาจมากมายแค่ไหน ยังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โค่นล้มมาแล้ว ดังนั้น การละเลยความยุติธรรมคือจุดตายของอำนาจ.