หัวข้อข่าว ถึงเวลาโบรกฯ ต้องปรับตัว
ที่มา; คอลัมน์ กระจกไร้เงา:ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559
ปฏิญญา สิงห์พิสาร
ใกล้คลอดแล้ว สำหรับร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ฉบับที่ พ.ศ… ) ฉบับใหม่ ที่เพิ่มบทลงโทษผู้กระทำความผิดและเข้มงวดตรวจสอบผู้กระทำความผิดในตลาดทุนให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันการแสวงหาผลประโยชน์ของเหล่าบรรดาผู้หิวเงินมีมากขึ้น จึงมีการพลิกแพลงการลงทุนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการปราบปรามกันบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุน
โดยนายศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บอกว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ พ.ศ….) ได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และคาดว่าจะมีผลบังคับใน 2-3 เดือนข้างหน้า ภายหลังนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
พ.ร.บ.ใหม่มีการเพิ่มมาตรการลงโทษผู้กระทำความผิดและเข้มงวดตรวจสอบผู้กระทำความผิดในตลาดทุน เช่น การปั่นหุ้น การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในบริษัท การซื้อขายหลักทรัพย์ที่ตัดหน้าลูกค้าโดยใช้ข้อมูลคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า และการวิเคราะห์หรือคาดการณ์ที่ใช้ข้อมูลบิดเบือน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าตกใจ เมื่อที่ผ่านมาผู้ที่ปั่นหุ้นยังมีการ เปิดบัญชีโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นมาเป็นนอมินีเพื่อปกปิดตัวเองในการสร้างราคาหุ้น ดังนั้นใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังให้การตรวจสอบและลงโทษคนกลุ่มนี้อย่างหนักเช่นกัน ทั้งผู้ที่ปั่นหุ้นและผู้ที่ยอมให้คนอื่นใช้หลักฐานตนเองมาเปิดบัญชี ตรงนี้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่สาระสำคัญอีกเรื่องที่เป็นที่น่าสนใจคือ การวิเคราะห์หรือคาดการณ์ที่ใช้ข้อมูลบิดเบือน เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ใช้ข้อมูลอินไซด์มาใช้ในการวิเคราะห์ และชี้นำนักลงทุน
ทางตลาดทุน โดยนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่…) พ.ศ….ฉบับใหม่ ได้มุ่งไปถึงประเด็นการใช้ข้อมูลภายใน ซึ่งเดิมอาจครอบคลุมเพียงกรรมการบริษัท หรือคนในครอบครัว แต่ฉบับใหม่นี้จะครอบคลุมถึงภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วย คือมองในแง่ของพฤติกรรมมากขึ้น
ที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ได้แสดงความกังวลถึงการให้ข้อมูลนักลงทุน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคต แต่ได้ยืนยันว่า หากเป็นการให้ข้อมูลโดยใช้ข้อมูลในอดีตหรือเป็นการคาดการณ์ในอนาคต โดยเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในแผน งาน ผ่านการรับรองโดยคณะกรรมการบริษัท หรือมีการลงนามไปแล้ว สามารถให้ข้อมูลต่อนักลงทุนได้ และเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อกิจกรรมบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน และการโรดโชว์ของบริษัทต่างๆ
มาทางฝั่งของโบรกเกอร์ที่ต้องเป็นผู้รับแนวทางมาปฏิบัติต่อ โดยนายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า สมาคมได้พานักวิเคราะห์ไปพบเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำบทวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ ซึ่งทางสมาคมอยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือการทำบทวิเคราะห์ให้กับนักวิเคราะห์ คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวทางการทำบทวิเคราะห์ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก เป็นเพียงการปรับปรุงให้มีความถูกต้องมากขึ้น เช่น การเผยแพร่ข้อมูลที่จะต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน และมีปัจจัยสนับสนุนการลงโทษกรณีอินไซด์ เป็นต้น แต่การทำงานของนักวิเคราะห์ก็ยังคงเหมือนเดิม
แต่ถึงจะมีประโยชน์ต่อตลาดทุนมากเพียงใด ก็ยังมีข้อโต้แย้งนิดหน่อยจากโบรกฯ ในขั้นตอนการทำบทวิเคราะห์ เพราะบางขั้นตอนอาจจะต้องอาศัยความใกล้ชิดกับผู้บริหาร เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์ ซึ่งทาง บล.คันทรี่ กรุ๊ป ระบุว่า กฎหมายฉบับใหม่อาจจะส่งผลทำให้มีบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ออกมาน้อยลง เพราะโดยปกติแล้ว การจะทำบทวิเคราะห์นั้น นักวิเคราะห์จะต้องพูดคุยกับผู้บริหาร สอบถามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ หลังจากนั้นนำข้อมูลที่ได้รับมาประกอบกับประสบการณ์ในการวิเคราะห์ราคาพื้นฐานของแต่ละบริษัท
ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ฉบับใหม่กำหนดไว้ว่า ข้อมูลทุกอย่างจะต้องมีการแจ้ง ตลท.ก่อน จึงจะสามารถนำมาใช้ได้ หรือนำมาเขียนได้ ซึ่งในตลาดหุ้นไทยมี บจ.กว่า 600 บริษัท และในแต่ละวันมีการแจ้งข่าวต่อ ตลท.น้อยมาก จึงขอเสนอ ก.ล.ต.ให้สามารถนำข้อมูลจากการเข้าไปทำ Company visit หรือจากการโทร.เข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารที่มีที่มาที่ไปชัดเจน และแหล่งข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์นำมาใช้ประกอบในบทวิเคราะห์ได้
มีข้อดีแต่ก็มีข้อเสียเป็นเรื่องปกติ ตัว พ.ร.บ.เองก็เป็นประ โยชน์ต่อตลาดทุนและนักลงทุน ขณะเดียวกันโบรกเกอร์เองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นการพบกันครึ่งทาง หารือร่วมกันหาทางออก น่าจะดีที่สุด.