หัวข้อข่าว กฎหมายใหม่ ป.ป.ช.เพิ่มอาวุธทัดเทียมสากล เล็งจัดการบริษัทให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ
ที่มา; ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559
ปัญหาเรื่องของสินบนในแวดวงการทำธุรกิจนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ฝังรากลึกในหลายประเทศมายาวนาน โดยวิธีการหนึ่งที่จะช่วยทำลายวงจรการให้และรับสินบนนี้ได้ ก็คือการสร้าง ค่านิยมที่ถูกต้องให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยกฎหมายจะต้องสามารถบังคับใช้เอาผิดได้กับทั้งฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เรียกรับสินบน และฝั่งผู้ประกอบธุรกิจผู้ให้สินบน ไม่เพียงแต่คนที่ให้สินบน แต่ต้องรวมถึง “ตัวบริษัท” ที่ได้รับประโยชน์มหาศาลจากการกระทำดังกล่าว
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในวงการต่อต้านการทุจริต เมื่อกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงข่าวเรื่องการยุติคดี (settlement) ของบริษัท VimpelCom Ltd.จากการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐในการทำธุรกิจที่ประเทศอุซเบกิสถานซึ่งเป็น การกระทำความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ต่างประเทศและฝ่าฝืนบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีมาตรการควบคุมภายใน ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบน (Foreign Corrupt Practices Act : FCPA) และต้องจ่ายค่าปรับมหาศาลเป็นจำนวนกว่า 795 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คดีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของทางการสหรัฐในการดำเนินคดีกับบริษัทสกปรก ซึ่งถ้าพูดกันถึงเรื่องของค่าปรับจำนวนมหาศาลแล้ว หลายท่านอาจนึกย้อนถึงคดีประวัติศาสตร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งเมื่อ 8 ปีก่อน ที่ไปเกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ และมีความเกี่ยวพันถึงลูกจ้างของบริษัทในทุกระดับชั้น รวมถึงผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้บริษัทนั้น ต้องจ่าย ค่าปรับและค่าชดเชยความเสียหายรวมราว 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ สำนักงานกำกับตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานอัยการประจำเมืองมิวนิค ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็น ค่าปรับจำนวนสูงที่สุดนับแต่มีการบังคับใช้กฎหมาย FCPA ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 เป็นต้นมา
จากคดีตัวอย่างที่กล่าวมา เห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องการกำหนดฐานความผิดสำหรับนิติบุคคลและการมีมาตรการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการ ให้สินบนนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ในระดับสากล อีกทั้ง การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศนั้นยังเป็นไปอย่างเคร่งครัด แต่ในความเป็นจริง หลายบริษัทจากประเทศเหล่านี้กลับต้องพบความเสียเปรียบในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อต้องแข่งขันในต่างประเทศกับนิติบุคคลที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมมาตรฐานเดียวกัน ความไม่เท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการให้สินบน จึงทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นที่จะร่วมลงทุนในประเทศที่กฎหมายในเรื่องนี้อ่อนแอ
พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการค้าการลงทุน ร่วมกับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นที่จะต้อง ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาการให้สินบน เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุน รวมทั้งดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาร่วมประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใสและยั่งยืน ปัจจุบันนี้ นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจในไทย อาจมีความผิดทางอาญาหากเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2558 โดยตามกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช. นี้ นิติบุคคลอาจต้องรับผิดในกรณีที่ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคล เช่น ลูกจ้าง บริษัทในเครือ ไปให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลเอง โดยกฎหมายกำหนดโทษปรับที่รุนแรง เพื่อให้รัฐได้รับการเยียวยาความเสียหาย และเพื่อเป็นการ ป้องปรามการกระทำความผิด อย่างไรก็ตาม นิติบุคคลอาจไม่ต้องรับผิด หากว่ามีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ผู้บริหารระดับสูงมีการวางนโยบายที่ชัดเจนในการป้องกันการให้สินบน มีการประเมินความเสี่ยงที่นิติบุคคลมีโอกาสให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ มีการทำระบบบัญชีที่ดี เป็นต้น โดยเป็นเรื่องที่จะต้องมีการพิสูจน์กันในทางคดีว่ามาตรการเหล่านี้มีการบังคับใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใสในการทำธุรกิจอันสอดคล้องกับกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช. และมาตรฐานสากล ภาคธุรกิจเอกชนจึงควรใส่ใจกับการมีมาตรการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้กับบริษัทต่างๆ ในทุกประเภทธุรกิจและทุกขนาด รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับนิติบุคคลเพื่อป้องกันการให้สินบน (Anti-Bribery Advisory Service : ABAS) เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีของสากลในเรื่องของการป้องกันการให้สินบนแก่นิติบุคคลและ ผู้ที่สนใจ