โครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในองค์กรท้องถิ่น

หัวข้อข่าว: โครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในองค์กรท้องถิ่น

ที่มา: คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น, สยามรัฐ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม

 

ผมเห็นว่าโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความจำเป็นและมีความสำคัญยิ่งต่อการตรวจสอบการบริหารงานและการดำเนินงานด้านคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อช่วยเสริมภาพลักษณ์ของ อปท.ในด้านความมีคุณธรรมและความโปร่งใสให้ดียิ่งขึ้น สอดรับกับวาระกระทรวงมหาดไทยใสสะอาด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

 

ผมเข้าใจว่าโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ต้องการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ อปท.ทั่วประเทศ โดยใช้แบบประเมินที่ประยุกต์มาจากการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ซึ่งเป็นการประยุกต์แนวคิดการประเมินคุณธรรมการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity Assessment) ขององค์การต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ คือ องค์การต่อต้านการทุจริตและสิทธิพลเมือง (Anti-Corruption and Civil Rights Commission: ACRC) จากประเทศเกาหลี

 

ผมเห็นประโยชน์จากการประเมินการบริหารจัดการและการดำเนินงานของ อปท.ในหลายประการ เป็นต้นว่า (1) เพื่อจะได้บอกถึงระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ อปท.ว่าแต่ละจังหวัดอยู่ในระดับใดและเป็นอย่างไร (2) เพื่อทำให้ อปท.รับรู้ตนเองและประเมินตนเองไปในตัวในการที่จะนำจุดอ่อนในบางตัวชี้วัดมาพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสในองค์กรท้องถิ่นของตนเอง (3) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของ อปท.ให้มีการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะระบบคุณธรรมและความโปร่งใส เพื่อให้สาธารณชนรับทราบ

 

อย่างไรก็ตาม การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสนั้นก็ขึ้นอยู่กับดัชนีตัวชี้วัด ความแม่นยำ และความน่าเชื่อถือของผู้ประเมิน และสถาบันที่ทำการประเมินเป็นสำคัญ ซึ่งผมเห็นว่าการประเมินตามโครงการดังกล่าวมีหลายสถาบันเข้ามารับการประเมินตามโครงการ

 

ผมไม่แน่ใจว่าที่มาของสถาบันและหน่วยงานที่รับทำการประเมินตามโครงการจะมีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาจจะมีหลายช่องทางของความเป็นมา เป็นต้นว่า มีการประสานงานโดยตรงกับบุคคลในมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยมีท้องถิ่นจังหวัดเป็นผู้ประสานงานหลัก หรือบางส่วนทำการประชาสัมพันธ์เปิดเผยข้อมูลให้สถาบันต่างๆ มานำเสนอโดยให้สาธารณชนรับทราบ และเลือกสถาบันที่ดีที่สุด

 

ผมเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับการเชิญชวนจากสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดร้อยเอ็ดให้มาเขียนข้อเสนอโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2558 ซึ่งมีสถาบันที่นำเสนอเข้าแข่งขันกัน 3 แห่ง และเห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จังหวัดร้อยเอ็ดจะต้องเลือกสถาบันที่ตรงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่สุดและในที่สุดก็ได้รับการตอบรับให้กระผมในนามสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินโครงการประเมินดังกล่าว ต้องขอบคุณจังหวัดร้อยเอ็ดมา ณ โอกาสนี้ด้วย

 

ผมคิดว่าการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเปิดเผยและโปร่งใส และเลือกสถาบันที่คณะกรรมการแต่ละจังหวัดเห็นว่าดีที่สุดเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานในแนวทางคุณธรรมและความโปร่งใส

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ อปท. ซึ่งเข้าใจว่ามีหลายแห่งได้ดำเนินการไปเสร็จแล้ว ก็ควรจะเผยแพร่ตัวเลขดัชนีความโปร่งใสและคุณธรรมของแต่ละจังหวัดว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อจะได้ช่วยกันปรับปรุงและพัฒนา อปท.ให้ดำเนินงานให้มีคุณธรรมและความโปร่งใสมากขึ้น

 

ในประเด็นดังกล่าวนี้ ผมเห็นว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและป.ป.ช.ควรติดตามเร่งรัดในจังหวัดที่ประเมินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำตัวเลขดัชนีความโปร่งใสและคุณธรรมมาแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน

 

สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ด เห็นว่าในกระบวนการที่ผ่านมายังมีความล่าช้าในการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะเพิ่งได้มีการตอบรับและทำสัญญาให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินโครงการประเมินฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 นี้เองแต่ก็จะพยายามดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามกรอบเวลาที่กำหนด และในเบื้องต้น ขอขอบคุณจังหวัดร้อยเอ็ดและสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ทำการหารือร่วมกับที่ปรึกษาการประเมินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2558 ให้กับผู้บริหารท้องถิ่นในจังหวัด ทั้ง 201 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เห็นคุณธรรมและความโปร่งใส โดยให้ความสำคัญกับดัชนีชี้วัดในการประเมินในการที่จะร่วมกันพัฒนาและปรับปรุง อปท.ในจังหวัดร้อยเอ็ดต่อไป

 

ผมจึงเห็นว่า น่าจะเป็นการดีที่ อปท.ในจังหวัดร้อยเอ็ดจะได้เตรียมความพร้อมในการประเมินตนเองด้านคุณธรรมและความโปร่งใส เพื่อที่จะนำจุดแข็งและจุดอ่อนไปพัฒนาตนเองให้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ และได้ร่วมกันสร้างภาพลักษณ์ของ อปท.ในจังหวัดร้อยเอ็ดให้ดียิ่งขึ้น