ศาลอาญาคดีทุจริต ศาลปราบข้าราชการโกง

หัวข้อข่าว: ศาลอาญาคดีทุจริต ศาลปราบข้าราชการโกง

ที่มา: คอลัมน์ ฝั่งขวาเจ้าพระยา, ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย โชกุน

 

ประเทศไทยจะมีศาลใหม่เกิดขึ้นอีกศาลหนึ่งคือ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งจะเปิดทำการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ตุลาคมนี้โดยจะตั้งอยู่ที่อาคารศาลแขวงดุสิตแห่งใหม่ ซ.สีคาม แขวง ถ.นครไชยศรี เขตดุสิต

 

การทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการ เป็นเสมือนมะเร็งที่เกาะกินประเทศไทยมาอย่างยาวนาน นับวันยิ่งจะขยายตัวและมีรุปแบบวิธีการที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ในขณะที่กระบวนการป้องกัน ปราบปราม เป็นไปอย่างล่าช้า กว่าจะนำตัวผู้กระทำผิดมาคดำเนินคดี ต้องผ่านขั้นตอนการสอบสวนหาข้อมูลหลักฐานที่ยาวนาน และเมื่อคดีถึงศาลแล้ว ต้องใช้เวลาอีกหลายปี จึงจะมีคำพิพากษาที่ถึงที่สุด ลงโทษผู้กระทำผิด

 

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จึงเกิดขึ้นด้วยเป้าหมายที่จะให้การดำเนินคดีการทุจริต ประพฤติมิชอบของข้าราชการ และเจ้าพนักงานของรัฐเป็นไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการแยกคดีเหล่านี้ออกมา ให้ไปขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตฯ โดยตรง แทนการดำนเนิคดีโดยศาลยุติธรรม ซึ่งงมีคดีอื่นๆ เป็นจำนวนมาก

 

การตั้งศาลอาญาคดีทุจริตหรือศาลปราบโกงนี้ เป็นเรื่องที่มีการเสนอ พูดถึงมาอย่างยาวนานเกือบยี่สิบปี แต่ไม่เกิดขึ้นเสียที มาสำเร็จ เป็นจริงได้ ในยุครัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร โดยใช้เวลาเพียงหนึ่งปีกว่า นับตั้งแต่ ครม. มีมติเห็นชอบ จนถึงการให้ความเห็นชอบ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแหง่ชาติ หรือ สนช. ประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบ พ.ศ. …

 

คดีที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ เป็นคดีเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนกระบวนพิจารณาของศาล จะใช้ระบบไต่สวนค้นหาความจริงตามพยานหลักฐานที่มีทั้งหมดโดยจะยึดเอาสำนวนจาก ป.ป.ช. และ ป.ป.ท.เป็นหลัก

 

สำหรับนักการเมืองระดับชาติ หากทำผิด ยังคงต้องขึ้นศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองตามเดิม แต่นักการเมืองระดับท้องถิ่น ที่ทำผิดกรณีไม่แจ้งรายการทรัพย์สิน หรือแจ้งเท็จ ต้องขึ้นศาลนี้ จากเดิมที่ขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมามีคดีที่ว่านี้เป็นจำนวนมาก ทำให้ศาลฎีกาเสียเวลาในการทำคดีเหล่านี้

 

บุคคลธรรมดา ที่มิใช่เจ้าพนักงานของรัฐ ก็มีสิทธิโดนลงโทษจากศาลปราบโกงได้ ถ้ากระทำความผิดฐานฟอกเงิน หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับความผิด ในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ การให้เอกชนร่วมทุนในกิจกรรมของรัฐหรือกฎหมายอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือเกี่ยวข้องกับการเรียกรับหรือให้สินบน โดยเจ้าหน้าที่รัฐ

 

ข้อแตกต่างของการพิจารณาคดีโดยศาลปราบโกง กับศาลอาญาทั่วไปประการหนึ่งคือ อายุความ ในคดีอาญาทั่วไป หากจำเลยหลบหนี อายุความจะเดินต่อไป จำเลยเพียงแต่รอให้คดีหมดอายุความแล้วกลับมา จะไม่ถูกดำเนินคดี เพราะคดีหมดอายุความไปแล้ว ในระหว่างที่จำเลยหลบหนี ศาลต้องยุติการดำเนินคดีเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้ตัวจำเลยมาขึ้นศาล

 

สำหรับศาลปราบโกง แก้ปัญหาจำเลยหลบหนี ด้วยการไม่นับอายุความระหว่างที่จำเลยหลบหนีการ พิจารณา และยังคงพิจารณาคดีต่อไป แม้ว่าจะไม่มีตัวจำเลยมาขึ้นศาล ถือว่า จำเลยที่หลบหนีสละสิทธิในการพิจารณาต่อหน้า

 

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เป็นระบบสองศาล เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์และจำเลย สามารถยื่นอุทธรณ์เป็นศาลที่สองได้ โดยคดีจะถึง ที่สุด จบที่ศาลอุทธรณ์

 

จำเลยที่หลบหนีการพิจารณาคดี นอกจากศาลจะไม่นับอายุความ และยังคงไต่สวนคดีต่อไป ยังหมดสิทธิอุทธรณ์ด้วย ศาลชั้นต้นตัดสินอย่างไร ก็จบตรงนั้น

 

ระบบบริหารงานของศาลอาญาคดีทุจริตฯ จะมีอธิบดีผู้พิพากษา 1 คน รองอธิบดีผู้พิพากษา 3 คนโดยการจ่ายสำนวน อธิบดีผู้พิพากษาจะเป็นผู้จ่ายสำนวนไปยังองค์คณะ ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดี จะเป็นผู้พิพากษาที่สมัครใจเข้ามาพิจารณาคดี

 

สำหรับหัวหน้าคณะจะมีประสบการณ์สูงไม่ต่ำกว่า 20 ปี ส่วนองค์คณะก็มีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 10 ปี ตามกฎหมาย กำหนดอัตราองค์คณะให้มีได้สูงสุด 45 คน ขณะนี้มีผู้พิพากษาองค์คณะแล้ว 20 คน ซึ่งผู้ที่ประสบการณ์น้อยสุดก็ยังมีประสบการณ์การทำงานพิจารณาคดีถึง 17 ปี.

 

“สำหรับศาลปราบโกงแก้ปัญหาจำเลยหลบหนีด้วยการไม่นับอายุความระหว่างที่จำเลยหลบหนีการพิจาณาและยังคงพิจารณาคดีต่อไปแม้ว่าจะไม่มีตัวจำเลยมาขึ้นศาลถือว่าจำเลยที่หลบหนีสละสิทธิในการพิจารณาต่อหน้าศาลอาญาคดีทุจริตฯเป็นระบบสองศาล เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโจทก์และจำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์เป็นศาลที่สองได้โดยคดีจะถึงที่สุดจบที่ศาลอุทธรณ์จำเลยที่หลบหนีการพิจารณาคดี นอกจากศาลจะไม่นับอายุความ และยังคงไต่สวนคดีต่อไป ยังหมดสิทธิอุทธรณ์ด้วยศาลชั้นต้นตัดสินอย่างไรก็จบตรงนั้น”