หัวข้อข่าว: “มา ชาน ลี”กูรูหุ้นชั้นเทพ
ที่มา: คอลัมน์ ชุมชนคนหุ้น, ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย สุนันท์ ศรีจันทรา
การประกาศตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือหุ้นแจสทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 7.25 บาทของนายพิชญ์ โพธารามิกนั้น มีข่าวว่า “กุนซือ” ที่อยู่เบื้องหลังการวางแผนคือ “มา ชาน ลี” นักลงทุนขาใหญ่รุ่นแรกๆ ของตลาดหลักทรัพย์ “มา ชาน ลี” หรือ “ชาญ บูลกุล” อาจไม่เป็นที่รู้จักของนักลงทุนยุดนี้ แต่ย้อนหลังไปประมาณ 40 ปี “มา ชาน ลี” เป็นนักลงทุนรายใหญ่ชื่อกระฉ่อน มีบทบาทในความเคลื่อนไหวหุ้นหลายตัว
แต่หุ้นที่ทำให้ชื่อของ “มา ชาน ลี” ติดหูคอหุ้นในยุคนั้นคือ หุ้น บริษัท มาบุญครองอบพืชและไซโล ซึ่งนายศิริชัย บูลกุล พี่ชายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
หุ้นมาบุญครองฯ เป็นหุ้นเก็งกำไรยอดนิยมช่วงระหว่างปี 250-2521 ราคาเคยถูกลากขึ้นไปสูงกว่า 1,000 บาท แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ราคารูดลง และดูเหมือนจะปิดฉากความร้อนแรง ก่อนเกิดวิกฤต “ราชาเงินทุน” เมื่อเดือนสิงหาคม 2522 เสียอีก
หลังสิ้นยุคเฟื่องฟูของหุ้นมาบุญครองฯ “มา ชาน ลี” เงียบหายไปพักใหญ่ จนตลาดหุ้นฟื้นอีกครั้งในปี 2530 จึงเริ่มกลับเข้ามาใหม่ และยังมีฐานะเป็นขาใหญ่อยู่ แต่ไม่มีข่าวว่า อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวหุ้นตัวใดสักเท่าไหร่เดือนพฤษภาคม 2535 เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถูกจัดตั้งขึ้น “มา ชาน ลี” ลดกิจกรรมการซื้อขายหุ้นลง เพราะกลัวพลาดพลั้งกระทำ ความผิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
มา ชาน ลี อธิบายเหตุผลที่ลดบทบาทการซื้อขายหุ้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อนว่า เพราะ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มีข้อกำหนดควบคุมพฤติกรรมการปั่นหุ้นอย่างเข้มงวด ทำให้การซื้อๆ ขายๆ เข้าๆ ออกๆ ภายในเวลารวดเร็ว ซึ่งเคยทำได้ แต่ภายใต้กฎหมายใหม่อาจเข้าข่ายปั่นหุ้น เมื่อต้องเสี่ยงต่อความผิด จึงยุติบทบาทดีกว่า
แม้จะไม่เข้ามาซื้อๆ ขายๆ หุ้นเหมือนอดีต แต่มา ชาน ลี ยังวนเวียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ รับบทเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับหลายบริษัท ผลักดันบริษัทใหม่ๆ เข้ามาระดมทุนอย่างต่อเนื่อง
งานถนัดของ “มา ชาน ลี” คือ การเป็นที่ปรึกษาแก้ปัญหาฐานะทางการเงินให้หลายต่อหลายบริษัท และปรับโครงสร้างหนี้ให้บริษัทขนาดใหญ่มานับไม่ถ้วน โดยจัดหาแหล่งเงินทุนให้บริษัทต่างๆ รวมๆ แล้วน่าจะหลายแสนล้านบาท
งานที่ปรึกษาทางการเงินของ “มา ชาน ลี” จะเหมือนกับคำโฆษณาของบริษัทผลิตเครื่องถ่ายเอกสารยี่ห้อหนึ่ง โดย “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ใช่” เพราะมา ชาน ลี มักเป็นที่ปรึกษา ของบริษัทขนาดใหญ่ ทำรายการใหญ่ๆ ต้องหาแหล่งเงินทุน ก้อนโตๆ
การที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สนับสนุนเงินจำนวน 42,500 ล้านบาท เพื่อตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นแจส มา ชาน ลีมีส่วนสำคัญในการเจรจาและเสนอแผนการขอกู้
ก่อนหน้านี้ มา ชาน ลี เคยเป็นที่ปรึกษาการเงิน ในการครอบงำกิจการ ระหว่างบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ปล่อยกู้ให้ดับบลิวเอชเอฯ ในการซื้อหุ้นเหมราชฯทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เงินกว่า 40,000 ล้านบาท
มา ชาน ลี ตั้งบริษัทดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินมาหลายสิบปีแล้ว และนั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งตระกูลบูลกุลถือหุ้นใหญ่
ความเชี่ยวชาญและล้ำลึกในการวางแผนทางการเงิน ทำให้นักการเงินเก่งๆ หลายคน ต้องยอม “ซูฮก”ให้ มา ชาน ลี ความแม่นยำในการประเมินแนวโน้มการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางตลาดหุ้น ทำให้ผู้บริหารบริษัทโบรกเกอร์หลายคนยอมคารวะ ยกให้มา ชาน ลี เป็น กูรูหุ้นชั้นเทพ
การตัดสินใจล้างมือในอ่างทองคำ หันหลังจากพฤติกรรมการซื้อๆ ขายๆ หุ้น “มา ชาน ลี” คิดไม่ผิด เพราะนอกจากไม่มีชื่อเป็นเซียนหุ้นที่ถูกเพ่งเล็ง หรือเป็นขาใหญ่ที่ติดบ่วงคดีปั่นหุ้นแล้ว
อาชีพการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ก็ทำให้มา ชาน ลี มีรายได้เป็นเงินก้อนโตๆ สามารถชีวิตอย่างสบายไปตลอดชาติ
ค่าที่ปรึกษาของมา ชานลี แต่ละงาน รับเหนาะๆ นับร้อยล้านบาท ปีก่อนรับงานเทกโอเวอร์หุ้นเหมราชฯ ปีนี้รับงานตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นแจส สองงานนี้ อย่าไปบอกใคร “มา ชาน ลี” รับไปไม่น่าจะต่ำกว่า 200 ล้านบาท
ใครมีปัญหาด้านแหล่งเงินทุนหรือต้องปรับโครงสร้างหนี้ ติดต่อใช้บริการ “มา ชาน ลี” ได้ เพราะจัดการให้บริษัทขนาดใหญ่ “รอด” และ “รุ่ง” มาแล้วไม่รู้กี่รายต่อกี่ราย.