หัวข้อข่าว ปมร้อนรุมเร้า เขย่าความเชื่อมั่นคสช.
ที่มา; โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559
ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
ความเชื่อมั่นต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกสั่นคลอนต่อเนื่อง ล่าสุดเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียกรณีการเดินทางไปประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา อย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN – US Defense Informal Meeting) ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา
ประเด็นอยู่ที่การเดินทางระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-1 ต.ค.ที่ผ่านมา มีข้อมูลออกมาว่าใช้งบประมาณกับค่าเดินทางที่สูงเกินความเหมาะสม ท่ามกลางข้อสงสัยว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้จากการเดินทางไปร่วมงานหรือไม่
อ้างอิงเอกสารจากเว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่เผยแพร่ประกาศราคากลางจัดซื้อ-จัดจ้าง ประจาปี พ.ศ. 2559 จ้างการรับขนคนโดยสารทางอากาศโดยเครื่องบินพาณิชย์ ซึ่ง รับผิดชอบโครงการโดยกองการต่างประเทศ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี วงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร 20,953,800.00 บาท ซึ่งกำหนดราคากลาง (ราคาอ้างอิง) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เป็นการจ้างการรับขน คนโดยสารทางอากาศมีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นการเดินทางในนามรัฐบาล จึง ต้องจ้าง จาก บริษัท การบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ โดยแจกแจงเป็น 1.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบิน 3,835,200.00 บาท 2.ค่าเชื้อเพลิงอากาศยาน 10,776,000.00 บาท 3.ค่าอาหารและเครื่องดื่มระหว่างเที่ยวบิน 600,000 บาท 4.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติการภาคพื้น 2,636,400.00 บาท และ 5.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 3,106,200.00 บาท
ประเด็นนี้ พล.อ.ประวิตร ออกมาชี้แจงประเด็นแรกถึงสาเหตุที่ต้อง “เช่าเหมาลำ” เพราะการเดินทางครั้งนี้ไม่มีสายการบินใดที่จะเดินทางไปที่ฮาวายโดยตรง และต้องไปต่อเที่ยวบินซึ่งเสียเวลาเพราะเดินทางไปแค่ 3 วันเท่านั้น จึงเสนอไปที่การบินไทยและระบุราคาสูงสุดมา แต่ก็ไม่ได้เก็บราคาเต็ม เหมือนเป็นการช่วยการบินคล้ายกับเงินกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา เป็นของราชการช่วยราชการ ไม่เห็นจะมีอะไร
ส่วนประเด็นเรื่องของความคุ้มค่าการเดินทางไปนั้น เดินทางไปเพื่อไปหารือเรื่องการก่อการร้าย การก่ออาชญากรรมข้ามชาติ เรื่องไอซิส รวมถึงความมั่นคงทางทะเลที่ได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องทะเลจีนใต้ เป็นต้น ซึ่งทางสหรัฐชื่นชมไทยในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ประมงผิดกฎหมาย แก้ปัญหาเรื่องการบิน
อีกด้านในโซเชียลมีเดียยังมีความพยายามหยิบยกการเดินทางของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาเปรียบเทียบ กรณียกคณะ 81 คน เดินทางระหว่างวันที่ 8-15 ก.ย. 2556 ไป 3 ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และมอนเตเนโกร ซึ่งใช้วิธีเดินทางด้วยการเช่าเครื่องการบินไทย เส้นทาง กรุงเทพฯ -เจนีวา-ซูริก-โรม- มิลาน (พักเครื่องรอ) -กรุงเทพฯ เป็นเงิน 18,900,000 บาท มิลาน-มอนเตเนโกร 2 ลำ ลำละ 1,450,000 บาท รวมทั้งหมด 21,800,000 บาท
แต่สุดท้ายแม้จะมีคำชี้แจงจากฝั่ง คสช. หรือการนำไปเปรียบเทียบเคียงกับรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ก็ไม่อาจคลี่คลายแรงกดดันที่มีต่อฝั่ง คสช.ได้ เมื่อรัฐบาล คสช.ที่อาสาตัวปฏิรูปประเทศคลี่คลายปัญหาต่างๆ ในอดีต จำเป็นต้องวางตัว วางบรรทัดฐานให้สูงกว่านักการเมืองในอดีตที่ตกเป็นจำเลยในสังคมว่าเป็นสาเหตุที่นำบ้านเมืองมาจนถึงปัจจุบัน
จะเห็นว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาคะแนนนิยมและความเชื่อมั่นในตัวของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กระเตื้องขึ้นมาดีขึ้นจากบทบาทที่เด็ดขาดกับการใช้มาตรา 44 เข้าไปเคลียร์ทางตัน สะสางเรื่องทุจริตในหน่วยงานราชการ และการเมืองท้องถิ่นหลายกรณี
แต่ความเชื่อมั่นเหล่านั้นกลับต้องมาสั่นคลอนเพราะบรรดาปัญหาของคนใกล้ตัว เริ่มตั้งแต่แผลเก่าอย่างเรื่องเงื่อนงำความไม่โปร่งใสของโครงการ ราชภักดิ์ ที่สุดท้ายผลสอบออกมาโปร่งใสแบบยังค้างคาใจประชาชน
ต่อเนื่องด้วยปมของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย ทั้งเรื่องกรณีรับเหมารับงานก่อสร้างจากองทัพภาคที่ 3 ที่ถูกมองว่าเข้าข่ายเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ยังไม่รวมกับปัญหาเก่าก่อนหน้านี้
เมื่อมาเจอกับเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทางของ พล.อ.ประวิตร และคณะ ที่ยังไม่มีการออกมาชี้แจงเรื่องตัวเลขที่ชัดเจน นี่จึงเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมความเชื่อมั่นที่ย้อนกลับมาถึง คสช.
ยิ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนที่ออกคำสั่งไม่ให้หน่วยงานต่างๆ เดินทางไปดูงานต่างประเทศเพื่อประหยัดงบประเทศ แต่เมื่อเจอกรณีเช่นนี้ปัญหาจึงส่อเค้ารุนแรงหนักขึ้น
สุดท้ายอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร จะออกมาชี้แจงทำความเข้าใจในรายละเอียดเรื่องนี้ให้สังคมเข้าใจ ว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศ และนำตัวเลขที่แท้จริงออกมาอธิบายถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าไม่ให้ทุกอย่างกลายเป็นปัญหาหมักหมมที่จะฉุดความเชื่อมั่น คสช.ต่อไป