หัวข้อข่าว คม ชัด ลึก: ถูก-ผิดและความเหมาะสม
ที่มา; คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559
ในความรู้สึกของคนทั่วไป ย่อมสะดุดใจกับเงินจำนวน 20.9 ล้านบาท ที่ใช้ไปกับการเช่าเหมาลำเครื่องบินการบินไทยเดินทางไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนสหรัฐ ที่ฮาวาย ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-2 ตุลาคม 2559 ของคณะเจ้าหน้าที่ไทย โดยการนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยแยกแยะเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบิน 3.84 ล้านบาท ค่าเชื้อเพลิง 10.77 ล้านบาท ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 6 แสนบาท ค่าปฏิบัติการภาคพื้น 2.63 ล้านบาท และค่าดำเนินการ 3.10 ล้านบาท ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและต้องติดตามถามไถ่กันต่อไปก็คือ นอกจาก “ราคากลาง” ที่ดูเหมือนจะค่อนข้างสูงแล้ว ยังรวมไปถึงความเหมาะสม และระดับความจำเป็นเมื่อเทียบกับผลของงาน รวมทั้งจำนวนคนในคณะที่มีมากถึง 38 คน มีความพอเหมาะพอดีหรือมีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหนกับการประชุม ซึ่งทั้งหมดนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องตอบคำถามของสังคมให้เป็นที่กระจ่างต่อไป
โดยปกติย่อมเข้าใจกันได้ว่า การเช่าเหมาลำเครื่องบินก็ต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดอย่างน้อยก็ต้องเท่ากับการทำการบินในเชิงพาณิชย์ในแต่ละเที่ยวบิน ดังนั้นเงินจำนวน 20.9 ล้านบาท จึงน่าจะเป็นอัตราราคากลางที่ครอบคลุมเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารจริง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คณะของพล.อ.ประวิตรต้องควักเงินจ่ายจิปาถะสำหรับที่นั่งว่างเปล่าอีก 300 กว่าที่นั่งบนเครื่อง จะด้วยเหตุผลอำนวยความสะดวก ความมั่นคง ความรวดเร็วของการเดินทาง หรือแม้กระทั่งความสบายก็ตาม พล.อ.ประวิตรอธิบายกับสื่อมวลชนว่า การเดินทางไปครั้งนี้ทางสหรัฐอเมริกาต้องการให้ไปเป็นหมู่คณะเพื่อพูดคุยเสริมกันได้ในเรื่องก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ กลุ่มไอเอส ความมั่นคงทางทะเล ปัญหาทะเลจีนใต้ ทั้งหมดต้องใช้เวลา 3 วัน จึงติดต่อไปที่การบินไทย ซึ่งได้เสนอวิธีการเดินทางและราคาเข้ามา การเดินทางครั้งนี้ก็ไม่ได้เก็บราคาเต็มตามวงเงินที่มีเอกสารเผยแพร่อยู่ การใช้บริการการบินไทยก็เหมือนการช่วยการบินไทย เหมือนเงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา เงินหน่วยงานราชการไปช่วยหน่วยงานของรัฐ ดีกว่าไปช่วยคนอื่น
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เพราะมีหน่วยงานที่ทำงานตามระบบอยู่แล้ว อย่ามาจับผิดกันในเรื่องแบบนี้ ใครอยากฟ้องร้องก็ไปฟ้องร้องเอาเอง ขณะเดียวกันนักการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลก็ใช้ข้อมูลที่เปิดเผยออกมานี้ โจมตีรัฐบาลอย่างไม่รีรอ เช่น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล จากพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ยกตัวอย่างสมัยที่เขาร่วมรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ใช้เงินงบประมาณในราชการต่างประเทศน้อยกว่านี้มาก และในทางตรงกันข้ามกลับได้ประโยชน์จากการเจรจาทางการค้ามากกว่า ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจในยุคนั้นยังไม่ย่ำแย่เหมือนตอนนี้ด้วยซ้ำ แต่นั่นก็เป็นเหตุผลหรือการฉกฉวยทางการเมือง เพราะว่ากันถึงที่สุดแล้ว กรณีคณะของ พล.อ.ประวิตรเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องถามหาความชอบธรรมต่อไปเอง ซึ่งจะไม่มีเรื่อง “ได้เสีย” ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
ในระยะเวลาเบื้องต้นที่เรื่องนี้ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ มีคำอธิบายจากผู้ที่เกี่ยวข้องไปในลักษณะความจำเป็นของการประชุม อีกทั้งเป็นการใช้จ่ายเงินตามระบบอย่างโปร่งใส ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง หากแต่เรื่องคงจะไม่จบเพียงเท่านั้น ตราบเท่าที่สังคมยังคลางแคลงใจเรื่อง “ความจำเป็น” “ความเหมาะสม” ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลหรือรัฐมนตรีจะอธิบายถึงความคุ้มค่าของการประชุมร่วมดังกล่าวอย่างไร แต่ก็ไม่ได้ทำให้คำถาม 2 ประเด็นแรกต้องตกไปหรือได้รับความกระจ่าง กระนั้นก็ตาม ถ้าหากจะมองโลกในแง่ดีสักหน่อย กรณีที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นตัวอย่างอันจะนำไปสู่การตรวจสอบอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินไปเพื่อการเดินทางของบุคคลที่เรียกว่าวีไอพี ที่ว่ากันว่าในแต่ละปี “ถลุง” เงินของชาติไปจำนวนมหาศาล รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งประกาศเดินหน้าปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ก็ควรใช้โอกาสนี้วางบรรทัดฐานให้เป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน โดยเฉพาะกับคำกล่าวที่ว่า “ไม่ผิดแต่ไม่เหมาะ” นั้น จะปล่อยให้มีอยู่ต่อไปหรือไม่