หัวข้อข่าว: คอลัมน์ ที่นี่ กม. 4.5
ที่มา: คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย สิงห์เขียว
…หลังจากมีการจัดตั้ง “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติ มิชอบกลาง” มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 และเริ่มเปิดทำการวันแรก 3 ตุลาคม โดยรับคดีที่โอนมาจากศาลอาญากว่า 70 คดี รวมทั้งคดีที่ยื่นฟ้องประเดิมศาลใหม่อีก 3 สำนวน
…แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ในกระแสสนใจของผู้คน แต่ข้อสังเกตคือ ล้วนแต่เป็นคดีที่มีอายุความยาวนานนับสิบปี ที่รอคิวสะสางจนคนลืม
…ตัวอย่างคดีแรก ที่อัยการประเดิมฟ้องอดีตเจ้าหน้าที่ธุรการประจำสถานทูตไทยในบังกลาเทศ-เยอรมนี ยักยอกเงินค่าธรรมเนียมกงสุล ระหว่างปี 2540-2541 รวม 59 ครั้ง ก็ปาเข้าไปเกือบ 20 ปี ถ้าย้อนกลับไปดูรายละเอียด อีกกว่า 70 คดีที่ถูกโอนมา ก็ไม่ต่างกัน เท่าไหร่
…เรื่องนี้ต้องยกความดีให้รัฐบาลและหลายรัฐมนตรี รวมทั้งข้าราชการระดับสูง ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง” เกิดขึ้นมาได้ และที่ต้องติดตามดูให้ดี คือ การ “ไล่ฟ้องคดี” ที่คาราคาซังมาจนแทบจะหมดอายุความ
…บิ๊ก คสช.รายหนึ่ง ที่มีบทบาทอย่างสูง ประกาศอย่างเหลืออด ที่คดี “คนดัง” ยังไปไม่ถึงไหน ไล่จับกันเป็นแมวจับหนู “สักวันหนึ่งถ้าเกินเลยจากนี้ไป ผมจะพูด…” นั่นหมายถึง การชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคปัญหา ในกระบวนการยุติธรรม ที่เกิดจากตัว “บุคลากร” ไม่ทำ “หน้าที่”
…”หลังมีศาลทุจริต ต่อไปทุกคดีผมจะพูดให้หมดเลยว่า อยู่ที่ศาลมา 10 ปีแล้ว จากคนเป็นผู้อำนวยการกองมาเป็นรองอธิบดีแล้ว คดีไหน อายุความเท่าไหร่ อยู่ที่ใคร ถูกดองไว้ตรงไหน รัฐบาลจะได้จะลอยตัว เสียที” บิ๊ก คสช.รายนี้บอกอย่างเหลืออด ถึงปัญหา “ซุกคดี” ที่มีนัยสำคัญ
…น่าสนใจว่า ถึงแม้ คสช.ยุคนี้ยึดอำนาจมา โดยจะไม่มีการยึดทรัพย์นักการเมืองเอาไว้ตรวจสอบก่อนอย่างคณะรัฐประหารในอดีต แต่วิธีการกลับใช้กฎหมายที่มีอยู่จัดการไป ตามระบบ…มาถึงนาทีนี้ก็พอเข้าใจได้ เพราะแนวทางแต่ละคณะใช้บทเรียนในอดีต เพื่อไม่เดินซ้ำรอยกันให้ “เสียของ”
…ว่ากันถึงเรื่องคดี ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการต่อต้านการ ทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มี “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน ระบุถึงหลักการทำงานไว้น่าสนใจว่า… ความพยายามของ คสช.ที่กำลังลุยรื้อคดีทุจริตคอร์รัปชั่นในอดีต ยึดหลัก ที่ว่า คดีตั้งแต่ 5-10 ปี จะใช้ มาตรา 44 ดำเนินการทางวินัยโยกย้ายให้พ้นหน้าที่เสียก่อน แล้วเร่งรัดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นี่คือหมดหน้าที่ คสช. และต่อไปคือหน้าที่ใครต้องทำเพื่อส่งให้ถึงศาลใหม่นี้ เพื่อให้มีการ “ตัดสินคดี”
…ว่ากันว่า ถ้าขืนยังล่าช้าอยู่ ศอตช.ของ “บิ๊กต๊อก” จะมีมาตรการ “ประจาน” ด้วย ลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการว่า คดีไหนอยู่กับหน่วยงานไหน ใครรับผิดชอบมากี่ปีแล้ว ดองไว้ที่ ใคร ชนิดที่เตรียม “แฉ” ให้อาย ไม่มีไว้หน้าแม้แต่ คนกันเอง
…ขณะที่อีกด้านของ คสช. ที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงสถานการณ์ “ขาลง” ที่ชักจะมีเรื่องใกล้ตัวท่านผู้นำ โดยเฉพาะบริวารว่านเครือเป็นพิษ ถ้าตอบไม่ถูกใจสังคมก็ “เข้าตัว”
…โดยเฉพาะเมื่อองค์กรตรวจสอบทั้งหลายถูกตั้งแง่ว่า คสช.เลือกคนของตัวเองเข้าไปประจำการแทบทุกองคาพยพ
…แต่ไม่ว่าจะเรื่องไกลตัว ใกล้ตัว คนในรัฐบาล ท่านผู้นำก็ควร “ฟังความให้รอบด้าน” หลายเรื่องถึงจะ “ไม่มีใบเสร็จ” แต่เสียงวิจารณ์จากนักเลือกตั้งที่สะท้อนว่า ยุครัฐบาลพิเศษ “สถานการณ์หนักกว่า” รัฐบาลพลเรือน ก็อาจเป็นเรื่องที่ต้อง “สืบหาข้อเท็จจริง”
…โดยเฉพาะยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ภาคประชาสังคมกำลังลุกขึ้นมาตรวจสอบรัฐบาลเอง ขนาดเรื่องเครื่องบินเช่าเหมาลำ 20 ล้าน ไปประชุม รมต.กลาโหมอาเซียน-สหรัฐ ที่ฮาวาย ของคณะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ก็ยังสามารถไปงัดเมนู “คาเวียร์” และ “แฮมอิตาเลียนรมควัน” มาแย้ง เมนู “ก๋วยเตี๋ยว” จนได้!!
…เรื่องอย่างนี้ คสช.ต้องระวัง แม้จะโปร่งใส แต่ประเด็นคือ ความเหมาะสม…เพื่อไม่ให้ความ “เสื่อม” มาเร็วกว่าที่คิด!!
…ส่งท้ายด้วยเรื่องที่ต้องลุ้นกันก่อนถึงวันเลือกตั้ง คือ การกวาดล้างกลุ่มอิทธิพลทุกระดับ ที่รัฐบาลกำลังใช้ “มหาสารคามโมเดล” เป็นต้นแบบจัดการเรื่องอิทธิพลท้องถิ่นจนถึงระดับชาติหลังจากโยกย้ายด้วยมาตรา 44 แทบล้างจังหวัด
…ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า บัญชีรายชื่อ “บ้านใหญ่” และผู้มีอิทธิพลการเมือง “แถวหน้า” อีกหลายจังหวัด ยาวเป็นหางว่าว กำลังจะถูกกวาดลงจากเวทีการเมืองรอบหน้า