ตรวจยึดทรัพย์ทุจริต ทางออกที่ยั่งยืน?

หัวข้อข่าว: ตรวจยึดทรัพย์ทุจริต ทางออกที่ยั่งยืน?

ที่มา: คอลัมน์ ต่อ ต้าน คอร์รัปชัน, แนวหน้า ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

 

          ต่อตระกูล: ผมเชื่อมาเสมอว่า การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย จะมาไล่สืบสวนสอบสวนคดีหลังเกิดเหตุไปตลอดนั้นไม่ได้ เพราะมันไม่ยั่งยืน จากประสบการณ์ที่ผมทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันมาตลอด 15 ปี แทบไม่เห็นคดีทุจริตไหนที่ถูกสอบและจับผู้กระทำผิดได้ในทันทีเลย ต่อให้เป็นคดีตัวอย่างที่สร้างความภาคภูมิใจให้ ป.ป.ช. มากอย่างคดีทุจริตโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ก็ไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินคดี และทำให้ไม่มีประสิทธิผลในการสร้างความหวาดกลัวให้กับคนโกง

 

          ต่อภัสสร์: แน่สิครับ คดีคลองด่านนี่ใช้เวลาทำคดีกันเกือบ 12 ปี จนสุดท้ายคนผิดอย่างนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เสียชีวิตไปก่อนตัดสินและเปิดโอกาสให้นายวัฒนา อัศวเหม หลบหนีคดีไปได้จนถึงปัจจุบัน เล่นช้าขนาดนี้ ใครจะไปกลัวการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช. ล่ะครับ

 

          ต่อตระกูล: แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า ป.ป.ช. ทำงานไม่ดีนะ เพราะต่อให้เก่งแค่ไหนหรือมีทรัพยากรมากเพียงใด จะดำเนินคดีทางกฎหมายกับใครได้นั้น พยานและหลักฐานต้องแน่นหนามาก เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง ดังนั้นยังไงก็ทำโดยรวดเร็วมากไม่ได้หรอก

 

          ต่อภัสสร์: แล้วถ้าวิธีการสืบสวนสอบสวนนั้นไม่ได้ผลดี เรามีวิธีการอื่นด้วยหรือครับ?

 

          ต่อตระกูล: มีสิ เรายังฝากความหวังกับแนวทางป้องกันการทุจริตได้เสมอ วิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากคือการตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่มีอำนาจรัฐว่าร่ำรวยผิดปกติหรือไม่

 

          วิธีนี้ไม่ต้องเสียเวลาหาพยานหลักฐานคดีทุจริตใดๆ ซึ่งฝ่ายสืบสวนสอบสวนทุกคนรู้ดีว่ายากมาก เพียงให้ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของตน เจ้าหน้าที่ก็คอยตรวจสอบดูว่า ครบหรือไม่ โดยอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าธนาคารพาณิชย์ที่เป็นแหล่งเก็บเงิน กรมสรรพากรที่มีข้อมูลการเสียภาษีทั้งหมด หรือ ปปง.ที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้หมดไม่ว่าซับซ้อนแค่ไหน สุดท้ายก็เอาข้อมูลทรัพย์สินเหล่านี้มาเปรียบเทียบว่า ก่อนดำรงตำแหน่งกับช่วงระหว่างดำรงตำแหน่ง และหลังพ้นตำแหน่ง ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน เพราะถ้าระดับรัฐมนตรีเงินเดือน 80,000 บาท ทำงานไปหนึ่งปีแล้วมีเงินเพิ่มมาเป็นหลายร้อยหลายพันล้าน ก็คงน่าสงสัย

 

          และที่ง่ายกับการตรวจสอบขึ้นไปอีกคือ เมื่อเกิดกรณีน่าสงสัยแบบนี้ขึ้น คนที่ต้องรับผิดชอบในการอธิบายที่มาที่ไปของเงินคือเจ้าของเงินนั้น ไม่ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. หลายร้อยคนไปไล่สืบสวนหาความจริง ถ้าอธิบายได้แต่ข้ออ้างไม่เหมาะสม เช่น บอกว่าระหว่างดำรงตำแหน่งไปรับจ๊อบข้างนอกด้วย ต่อไปประชาชนก็ไม่เลือกแล้ว เพราะไม่ทำงานเต็มที่เต็มเวลาอย่างที่สัญญาไว้ หรือ ถึงจะอธิบายได้ แต่ไม่ได้แจ้งสรรพากรไว้ก่อน ก็ถูกปรับภาษีเข้าคลังแผ่นดินไปแต่ถ้าอธิบายที่มาที่ไปของเงินเจ้าปัญหานี้ไม่ได้ล่ะก็…นอกจากต้องถูกริบทรัพย์แล้ว ยังต้องถูกดำเนินคดีอาญา ติดคุกอีก นี่เป็นหลักการง่ายๆ ของวิธีต่อต้านคอร์รัปชันด้วยการเปิดเผยและตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ใช้อำนาจรัฐ

 

          ที่ผ่านมาก็เคยมีนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงโดนยึดทรัพย์ไปแล้วบ้าง ทั้งด้วยข้อหาทุจริตและร่ำรวยผิดปกติ เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร กับพวก, พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พร้อมรัฐมนตรีอีกรวม 10 คน, พลเอกชำนาญ นิลวิเศษ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม, นายเมธี บริสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, นายรักเกียรติ สุขธนะ, นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม, และนายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นต้น

 

          ต่อภัสสร์: ที่จริง ป.ป.ช. มีหน้าที่หนึ่งในการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่นิครับ แล้วที่ผ่านมาทำไมยังไม่ค่อยมีประสิทธิผลหรือครับ

 

          ต่อตระกูล: น่าจะเป็นเพราะเหตุผล 3 ประการ เหตุผลแรกคือ การตรวจสอบทรัพย์สินนี้ครอบคลุมเพียงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะที่คนทุจริตนี่เราก็ทราบดีว่าอยู่ในทุกวงการทั้งนักธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการ และนักการเมือง เหตุผลที่สองคือ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ข้อนี้ ทั้งการขาดทรัพยากรที่จะตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารปริมาณมหาศาลของนักการเมืองแต่ละคนและหาหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ และสามคือขาดความตื่นตัวของประชาชนที่ต้องการรู้ข้อมูลและแสดงพลังขอให้มีการตรวจสอบคนที่น่าจะร่ำรวยผิดปกติ แต่ข้อสุดท้ายนี่เองก็เป็นผลมาจากการนำเสนอข้อมูลทรัพย์สินนักการเมืองที่เข้าใจยาก และข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่ไม่สามารถนำไปใช้คำนวณต่อเองได้

 

          ต่อภัสสร์: อย่างนี้ทางแก้ที่เราทำได้เลย ที่จะส่งผลให้ภาครัฐไปปรับปรุงกระบวนการต่างๆ คือ การตื่นรู้ เรียกร้องให้ผู้ที่เราเห็นว่าร่ำรวยผิดปกติชี้แจ้งที่มาที่ไปของทรัพย์สิน จริงๆ ป.ป.ช.ก็มีระเบียบสนับสนุนข้อนี้มาตั้งแต่ 2553 โดยผู้ใดชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกตรวจสอบ รวมทั้งตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนต่อ ป.ป.ช.จะได้เงินรางวัลถึงร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินที่นำส่งกระทรวงการคลัง แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท

 

          ต่อตระกูล: ใช่แล้ว แต่ครั้งล่าสุดที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. อาจารย์บอกว่า ยังไม่มีใครมาใช้สิทธินี้เลย น่าเสียดายมาก

 

          ต่อภัสสร์: เรื่องให้เงินรางวัลแลกเบาะแสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.เมธี ครองแก้ว

 

          อดีตกรรมการป.ป.ช.เคยวิเคราะห์ไว้ในกรอบความคิดนักเศรษฐศาสตร์ว่า ป.ป.ช.ต้องระมัดระวังการใช้เครื่องมือนี้ให้มาก เพราะเงินรางวัลอาจจะไปทำลายลักษณะคุณความดีของคนในสังคมได้ คือ ต่อไปเงินรางวัลจะไปสร้างเงื่อนไขในการทำดีว่า ต้องมีผลตอบแทนเท่านั้นถึงจะทำ ถึงกระนั้นอ.เมธีก็ยังสนับสนุนเครื่องมือนี้เพราะมันเหมาะสมกับต้นทุนแห่งความพยายามของผู้ให้ข้อมูล ไม่ใช่เป็นเพียงลาภลอย และ

 

          เพิ่มเติมว่า ถ้าจะให้แรงจูงใจนี้ใช้การได้จริง ต้องมีการประเมินคุณภาพของเบาะแสนี้เพื่อเทียบกับสัดส่วนเงินรางวัลที่ควรให้

 

          ต่อตระกูล: อันที่จริง เรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบและยึดทรัพย์สิน ยังมีหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการ

 

          ต่อต้านคอร์รัปชัน ไม่ว่าข้อเสนอการติดตามทรัพย์สินทุจริตคืนที่ รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ เสนอว่า เมื่อเกิดทุจริตขึ้น รัฐไม่ควรไปรอสืบหาเพื่อยึดทรัพย์สินเกี่ยวข้องกับการทุจริตนั้นๆ แต่สามารถริบชำระทรัพย์สินอื่นๆ ของผู้กระทำผิดตามมูลค่าเท่ากับที่ทุจริตไปได้เลย และสำหรับการตามยึดทรัพย์สินที่ถูกโอนย้ายไปต่างประเทศแล้ว ปัจจุบันก็มีหน่วยงาน

 

          ระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ค้นหาและตามยึดให้ ประเทศไทยน่าจะพิจารณาใช้บริการบ้าง ดีกว่าปล่อยให้เงินแผ่นดินหายไปอย่างหมดหนทางตามคืน

 

          สรุปแล้ว ทางออกหนึ่งสำหรับประเทศไทยคือการเลิกวิ่งตามสืบสวนคดีความทุกคดีอย่างเหน็ดเหนื่อย แต่ไม่ค่อยได้ผล แล้วกลับมาไล่ตามเก็บเงินคืนจากคนโกง จะยั่งยืนกว่ามากครับ