หัวข้อข่าว: ยิ่งลักษณ์สบช่องคดีเริงชัย จี้ประยุทธ์เลิกคำสั่งขอสู้ในศาลแพ่ง บิ๊กต๊อกถกหาขรก.รับผิดจำนำข้าว
ที่มา: โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559
โพสต์ทูเดย์ – ทนายยิ่งลักษณ์อ้างคำพิพากษาศาลฎีการะบุการตัดสินใจด้านนโยบายคิดเป็นกำไรขาดทุนไม่ได้ เรียกร้องบิ๊กตู่ส่งคดีเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวขึ้นศาลแพ่งเหมือน “เริงชัย”
นายนพดล หลาวทอง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จะทำหนังสือเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพื่อทบทวนคำสั่งเรียกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จ่ายค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าว และให้ยึดคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2559 ที่ได้พิพากษายกฟ้อง นายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ซึ่งถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งเมื่อปี 2544 โดยเรียกเป็นเงินสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท จากการดำเนินนโยบายปกป้องค่าเงินบาทแล้วขาดทุน
“ในฐานะที่ผมเป็นทนายความทั้งคดี นายเริงชัยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ และผู้ว่าการแบงก์ชาติ ของบุคคลทั้งสองเหมือนกันคือ หน้าที่และความรับผิดชอบต่อการปฏิบัตินโยบาย ซึ่งศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐาน (President case) ว่า การต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อการตัดสินใจด้านนโยบายนั้น แม้จะต้องสูญเสียเงินไปก็จะถือเป็นความเสียหายคือ คิดเป็นกำไร ขาดทุนไม่ได้” นายนพดล กล่าว
นอกจากนี้ ในคดีของ นายเริงชัย รัฐบาลขณะนั้นได้ใช้วิธีฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง คือให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดย ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ก็พิพากษาว่า นายเริงชัยไม่ได้กระทำผิด ไม่เกิดความเสียหาย แต่รัฐบาลนี้กลับไม่ให้ความเป็นธรรมต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะใช้วิธีรวบรัดออกคำสั่งของฝ่ายบริหารให้รับผิดโดยทันที แทนที่จะใช้วิธีฟ้องศาลแพ่ง รวมทั้งการออกคำสั่งตาม มาตรา 44 อีกหลายคำสั่ง โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม จึงขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ทบทวนคำสั่งการเสียใหม่ด้วย เพราะถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ล่าสุด
ด้าน นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวว่า ในวันที่ 10 ต.ค. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ประธาน ศอตช.จะประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณาการรับผิดของ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนและผู้ตรวจสอบข้าวในคลังสินค้าอีก 80%
ทั้งนี้ การประชุมจะมีการกำหนดแนวทางการทำงานเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 853 สำนวน ในพื้นที่ 33 จังหวัดทั้งภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ เบื้องต้นจะเสนอให้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนแยกเป็นรายสำนวน คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องถูกตรวจสอบมีทั้งเจ้าหน้าที่องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส)