หัวข้อข่าว: คลิปเสียบบัตรมัด’นริศร'”อุดมเดช”แถสลับร่างรธน.ไม่ผิด
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559
ผู้จัดการรายวัน360 – ป.ป.ช.เปิดคลิปมัด “นริศร” ใช้บัตร 3 ใบ ลงคะแนนแก้ไข รธน. ชี้ขัด รธน. กลืนคำปฏิญาณตน เจ้าตัวยันไม่ยอมรับข้อกล่าวหา ด้าน “อุดมเดช” โยนสนช.วินิจฉัยเป็น “จนท.รัฐ” หรือไม่ อ้าง จนท.รัฐสภาการันตี สลับร่างรธน.ไม่ผิด สนช.ตั้ง กมธ. ซักถามพร้อมนัดซักคู่กรณี 14 ต.ค.นี้
วานนี้ (6 ต.ค.) มีการประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาวาระสำคัญคือ การแถลงเปิดคดีการถอดถอน นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรค เพื่อไทย กรณีเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน และคดี นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กรณีการสับเปลี่ยนร่างแก้ไข รธน. เรื่องที่มา ส.ว.ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ
โดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัวแทนผู้กล่าวหา ได้ยืนยันความผิดของ นายนริศร โดยได้เปิดคลิปภาพ เสียง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่แสดงให้เห็นภาพนายนริศร กำลังเสียบบัตรลงคะแนนจำนวน 3 ใบ การที่นายนริศร อ้างว่ามีบัตรหลายใบ เพราะทำบัตรสำรองไว้ แต่จากการตรวจสอบจากกลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักงานการประชุม ชี้แจงว่า ส.ส.จะมีบัตร 3 ใบ คือ 1. บัตรจริงที่มีรูปถ่าย ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัว มีกรุ๊ปเลือด และชื่อพรรคที่สังกัด 2. บัตรลงคะแนนสำรอง ซึ่งไม่มีรูป มีแต่ชื่อ นามสกุล และพรรคการเมืองที่สังกัด และ 3. บัตรลงคะแนนพิเศษ หรือ เอสพี ไม่มีรูป ไม่มีชื่อ สกุล มีเพียงเลขประจำตัวและพรรคการเมืองที่สังกัด โดยบัตรจริง จะให้สมาชิกเก็บไว้ ส่วนอีกสองใบ จะฝากไว้ที่กลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักการประชุม หากสมาชิกจะขอใช้ เนื่องจากลืมบัตรจริง จะต้องไปเขียนคำร้องขอใช้บัตร และเมื่อใช้เสร็จแล้ว ต้องนำไปคืน คลิปที่มีการบันทึกภาพในวันลงคะแนน เมื่อปี 56 ที่มี น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์นำมาแสดงนั้น ซึ่งบัตรที่นายนริศร นำมาลงคะแนนทั้ง 3 ใบ เป็นบัตรจริงทั้งหมด เนื่องจากมีรูปสมาชิกชัดเจน
ดังนั้น คำชี้แจงของนายนริศร ไม่อาจน่าเชื่อถือและไม่อาจรับฟังได้ ประกอบกับทางรัฐสภาไม่เคยออกบัตรใหม่ให้นายนริศร และการลงมติ ถือเป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาด สมาชิกหนึ่งคนจะลงมติได้เพียงครั้งเดียว รวมทั้งประจักษ์พยานอื่นที่มาเบิกความ ประกอบกับภาพถ่าย มีสมาชิกรัฐสภาหลายคนไม่ได้มาออกเสียงลงคะแนน แต่ได้มอบหมายให้สมาชิกบางคนมาออกเสียงแทน
ส่วนที่นายนริศร อ้างว่า การลงมติถือเป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาดของสมาชิก ไม่สามารถนำไปฟ้องร้องได้ แต่จากการสอบปากคำ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ระบุว่า สมาชิกมีเอกสิทธิ์ก็จริง แต่ต้องอยู่ภายในรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และต้องอยู่ภายใต้การปฏิญาณตนของสมาชิก ที่กระทำต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในห้องประชุมนี้ว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต และตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ดังนั้นเมื่อการลงมติต้องอยู่ภายใต้รากฐานการซื่อสัตย์สุจริตตามที่ปฏิญาณไว้ เมื่อละเมิดคำปฏิญาณย่อมทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามที่กล่าวอ้าง
ดังนั้น ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. จึงวินิจฉัยว่าการกระทำของนายนริศร เป็นการใช้สิทธิ์เกิน มาตรา 123 และเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต เพราะสิทธิ์หนึ่งเสียง ก็ทำหน้าที่เพียงหนึ่งเสียง แต่ในคลิปนายนริศรใช้สิทธิ์ถึง 3 เสียง และมีมูลส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 68 มาตรา 122 มาตรา 123 มาตรา 126 ทาง ป.ป.ช.จึงมีมติว่า เป็นการกระทำผิดทางอาญา หาผลประโยชน์โดยไม่ชอบ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และ ป.ป.ช.ได้ส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ด้านนายนริศร แถลงคัดค้านข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช เพียงยืนยันว่า ใช้บัตรของตนเองเพียงใบเดียว และอยากทราบว่า บัตรอีกสองใบเป็นของใคร ผู้กล่าวหาสามารถพิสูจน์ได้หรือไม่ว่า ชื่ออะไร และบุคคลใด แม้ในคลิปจะตัดต่อไม่ได้ก็ตาม และที่ผ่านมาตนเป็น ส.ส.มาหลายปี ก็ใช้บัตรของตัวเองมาตลอด
จากนั้น ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมการซักถามจำนวน 7 คน โดยนายพรเพชร ได้นัดประชุมเพื่อซักถามในวันที่ 14 ต.ค.นี้
ต่อมาเป็นแถลงเปิดของ นายอุดมเดช โดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. แถลง เปิดสำนวนว่า จากการไต่สวนได้ความว่าส.ส. และ ส.ว. จำนวน 314 คน ร่วมลงรายมือชื่อในร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน.เกี่ยวกับที่มา ส.ว. ต่อมานายอุดมเดช ได้มอบหมายให้เลขานุการส่วนตัว นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับใหม่ ซึ่งมีบทบัญญัติเพิ่มเป็น 13 มาตราไปสลับกับฉบับเดิม โดยเปลี่ยนแปลงหลักการ และสาระสำคัญเปลี่ยนเป็นทำให้ ส.ว. ที่สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง สามารถลงสมัครเลือก ส.ว.ได้ทันที โดยไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี ซึ่งฉบับเดิมไม่มีหลักการดังกล่าว ต่อมาประธานรัฐสภาได้ส่งสำเนาแก้ไขเพิ่มเติมให้แก่สมาชิกรัฐสภา และลงมติ วาระที่ 1, 2 และ 3 ซึ่งสมาชิกรัฐสภา ได้ลงมติ แต่ เป็นร่างที่ไม่ได้มีการลงลายมือชื่อ
น.ส.สุภา กล่าวว่า จากการชี้แจงของนายอุดมเดช ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทำก่อนที่ประธานรัฐสภาได้อนุญาตบรรจุวาระ จึงไม่จำเป็นต้องให้สมาชิกรัฐสภา ลงลายมือชื่ออีกครั้ง แต่ ป.ป.ช.เห็นว่า เมื่อร่างรธน. ฉบับ 314 คน ที่ได้ลงลายมือชื่อ ต่อมาได้ถูกสลับเปลี่ยนไป จากการกระทำของนายอุดมเดช โดยเพิ่มข้อความทำให้บุคคลที่เป็น ส.ว. สามารถรับเลือกตั้งโดยไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี โดยที่สมาชิกรัฐสภาไม่ได้ลงลายมือชื่ออีกครั้ง เท่ากับว่า ร่างที่นำไปสลับเป็นร่างที่มีหลักการสาระสำคัญแตกต่างไปจาก ร่างเดิม ดังนั้น ร่างที่ไม่ได้มีการรับรอง จึงถือว่ามิชอบ แม้รัฐสภาจะลงมติให้ความเห็นชอบ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความชอบแต่อย่างใด
“การที่นายอุดมเดชแก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดอันเป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งคำชี้แจงของนายอุดมเดช ไม่อาจรับฟังได้ เพราะเป็นการแก้ไขจาก 12 มาตรา เป็น 13 มาตรา เพื่อให้ผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง ส.ว. สามารถสมัครเป็น ส.ว.ได้ โดยไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี ดังนั้น ร่างฉบับใหม่ที่มี 13 มาตรา จึงเป็นฉบับที่ไม่มีสมาชิกร่วมลงชื่อ เท่ากับว่าเป็นร่างปลอม ทำร้ายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ทำลายความน่าเชื่อถือ ประชาชนเสื่อมศรัทธา และศาลรธน. ก็วินิจฉัยว่า มิได้นำร่าง รธน. ที่นาย อุดมเดช เสนอเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 56 มาใช้ แต่ได้นำร่างใหม่ที่แตกต่างจากเดิมมาใช้ในการพิจารณาแทน ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกร่วมลงชื่อ ทำให้การรับหลักการในวาระหนึ่ง เป็นไปโดย มิชอบแก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น วินิจฉัยของศาล และ ป.ป.ช.สอดคล้องกัน ป.ป.ช.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายอุดมเดช ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ผิดกฎหมาย ป.ป.ช.ปี 42 และ ปี 52”
ด้านนายอุดมเดช แถลงโต้แย้งคัดค้านว่า การที่ ป.ป.ช.กล่าวหาว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขอให้ สนช.เป็นผู้วินิจฉัยเอง ส่วนการสับเปลี่ยนร่างรธน.โดยไม่มีสมาชิกลงรายชื่อ และการสับเปลี่ยนร่างกระทำได้หรือไม่นั้น การยื่นแก้ไขร่างรธน.ร่างเดิม ที่ยื่นเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 56 ไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ตกลงกันไว้ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน และไม่ตัดสิทธิ์ ส.ว.ปัจจุบัน ที่สามารถลงสมัครได้ จึงมีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ และเห็นตรงกันว่า สามารถแก้ไขได้ตราบใดที่ประธานรัฐสภา ยังไม่บรรจุวาระ และเมื่อใดก็ตามที่บรรจุวาระแล้ว ให้ถือเป็นร่างของรัฐสภาที่หากจะแก้ไขต้องขอเสียงข้างมากจากที่ประชุมรัฐสภาเพื่อสนับสนุน เมื่อประธานรัฐสภายังไม่บรรจุวาระ จึงนำสำเนาร่างมาขอปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสมาชิกที่ได้ร่วมลงรายมือชื่อเอาไว้ ดังนั้น ร่างที่ประธานบรรจุวาระ และเอกสารที่สมาชิกได้รับ ก็ตรงกับเอกสารที่ใช้บรรจุคือ ร่างที่ปรับปรุงแล้ว ประกอบกับไม่มีสมาชิกที่ร่วมลงรายชื่อทักท้วงว่าไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของสมาชิกที่ลงชื่อ แสดงให้เห็นว่าการเสนอแก้ไขเพิ่มเติม เป็นสิ่งที่สมาชิกย่อมรับทราบอยู่แล้ว
นายอุดมเดช ยังได้ยกคำให้การของพยานบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐสภาระดับสูง และ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกว่า 10 คน ที่ให้การไว้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติรธน. และสอดคล้องกับข้อบังคับการประชุม และเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ โดยไม่ถือว่าเป็นการเสนอญัตติใหม่ ไม่ต้องให้สมาชิกลงรายชื่อรับรองอีก เพราะเป็นเพียงการแก้ไขปรับปรุงรอการบรรจุระเบียบวาระ สามารถที่จะแก้ไขได้ ยืนยันว่าการดำเนินการของตนทำอย่างเปิดเผย ไม่ได้แอบ มีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐสภาว่า ได้แก้ไขตามข้อบังคับการประชุม ตนไม่ได้มีเจตนาปกปิด ทุจริตแต่อย่างใด การสับเปลี่ยนร่างสามารถกระทำได้ ก่อนจะบรรจุระเบียบวาระ ผู้ร่วมลงลายมือชื่อไม่ต้องเสนอชื่อใหม่ เพราะเป็นการแก้ไขปรับปรุงที่ไม่ขัดกับหลักการเดิม
นอกจากนั้น ยังมีรายงานการประชุมของ สนช.ที่ไม่ถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีการแก้ไขร่าง รธน. เกี่ยวกับที่มา ส.ว. โดยมิชอบ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มกรณีของตนด้วย รวม สนช.ไม่ถอดถอน 38 ส.ว. ในกรณีการแก้ไขร่าง รธน. เกี่ยวกับที่มา ส.ว. และไม่ถอดถอน 248 ส.ส.คดีเดียวกัน ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณามาโดยตลอด จึงขอให้สมาชิก สนช.พิจารณาด้วยความเป็นธรรม
จากนั้น ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมการซักถาม จำนวน 7 คน โดยใช้กรรมการชุดเดียวกับของนายนริศร และนัดประชุม สนช.เพื่อซักถามคู่กรณีในวันที่ 14 ต.ค. 59.