รายงานพิเศษ: ‘ศาลคดีทุจริต’ หนีคดีก็ไม่รอด

หัวอข้อข่าว: รายงานพิเศษ: ‘ศาลคดีทุจริต’ หนีคดีก็ไม่รอด

ที่มา: เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559

 

1 ตุลาคม 2559 เป็นวันดีเดย์ เปิด ‘ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ’ ศาลใหม่ที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบในแวดวงราชการ และผู้เกี่ยวข้อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2559 โดยยกฐานะจากแผนกคดีทุจริต และประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา ขึ้นเป็นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

 

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้เนื่องจาก การทุจริตและประพฤติมิชอบมีผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางสังคม เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และจากการดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างจริงจัง ส่งผลให้มีคดีฯ ขึ้นสู่ศาลมากขึ้น จึงสมควรจัดตั้งศาลฯ เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรม ในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์

ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวขณะเป็นโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ ว่า คดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ เป็นคดีที่ ป.ป.ช., ป.ป.ท. และพนักงานสอบสวน สรุปสำนวนส่งให้อัยการยื่นฟ้อง ข้าราชการทุกระดับ และคดีที่มีเอกชนร่วมกระทำผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายทุจริตและประพฤติมิชอบที่ระบุไว้เป็นความผิดด้วย โดยคดีแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

1) คดีอาญา ที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหา หรือร่วมกับเอกชนกระทำผิด เช่น การเสนอให้และรับสินบน ฮั้วประมูล 2) คดีแพ่ง ที่ขอให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมาย ป.ป.ช., คดีความผิดฐานฟอกเงิน, คดีร่ำรวยผิดปกติ 3) คดีเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดบัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ (http://www.nationtv.tv)

 

ส่วนคดีทุจริต และคดีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ยังคงอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

ชาญณรงค์กล่าวถึง ‘ข้อดี’ ของการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ ว่าสามารถแก้ปัญหาเรื่องจำเลยหลบหนีคดี เพราะมีบทบัญญัติให้ลงโทษสำหรับจำเลยที่หนีคดี กล่าวคือ จะหยุดนับอายุความระหว่างจำเลยหนีคดี สามารถเดินหน้าสืบพยานในชั้นศาลต่อไปได้ และมีคำพิพากษาโดยไม่ต้องมีตัวจำเลย ถ้าจำเลยต้องการอุทธรณ์ต้องมายื่นขออุทธรณ์เอง หากหลบหนีถือว่าสละสิทธิ นอกจากนี้ หากศาลชั้นต้นตัดสินไปแล้วว่าอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น

 

ส่วน ‘คดีริบทรัพย์’ หากจำเลยทำทุจริตแล้วได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดมา เช่น สิทธิที่ไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นสิทธิประโยชน์ทางธุรกิจการค้า ที่สามารถตีประโยชน์เป็นมูลค่าได้ ศาลจะตามริบหมด หรือทรัพย์ที่ได้มาจากการทุจริตสูญหายไปแล้ว ต้องตีเป็นมูลค่าว่าเป็นเงินเท่าใด แล้วตามยึดจากทรัพย์สินอื่น

 

ในการพิจารณาคดี ต้องมีระดับหัวหน้าคณะที่ผ่านการเป็นหัวหน้าศาลมาแล้ว อายุงานอย่างน้อย 25 ปี ส่วนลูกคณะต้องผ่านการทำคดีมาแล้ว 10 ปีเป็นอย่างน้อย

 

สำหรับขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการดำเนินการ สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวว่ามีดังนี้ 1) การยื่นคำร้องขอออกหมายจับ หมายค้น สามารถยื่นได้ที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ หรือศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่จะทำการจับหรือค้น 2) การยื่นคำร้องขอผัดฟ้อง ฝากขัง การออกหมายขัง การขอปล่อยชั่วคราวและการสั่งบังคับตามสัญญาประกัน ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้เหมือนคดีทั่วไป

 

3) กรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ สามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นอื่นที่ไม่ใช่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง โดยศาลชั้นต้นนั้นจะตรวจรับคำฟ้องในเบื้องต้น แล้วส่งต่อไปยังศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง ทางโทรสาร (แฟกซ์) หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิจารณาสั่งต่อไป

 

กรณีที่หน่วยงานของรัฐเป็นโจทก์ สามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นอื่น ที่ไม่ใช่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง โดยศาลชั้นต้นจะตรวจรับคำฟ้อง สำนวนการสอบสวน หรือสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง สอบถามเรื่องทนายความ คำให้การ พร้อมทั้งรายงานข้อมูลเบื้องต้นให้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง ทางโทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) เพื่อพิจารณาสั่งต่อไป

 

คดีที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร, จ.สมุทรปราการ, จ.สมุทรสาคร, จ.นครปฐม, จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี ราษฎรหรือหน่วยงานของรัฐที่เป็นโจทก์ ต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลางเท่านั้น ส่วนการดำเนินกระบวนพิจารณาภายหลังจากศาลสั่งรับฟ้องแล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้ออกไปทำการไต่สวนมูลฟ้อง นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง หรือที่ศาลชั้นต้นนั้น หรือโดยระบบประชุมทางจอภาพ (Video Conference) ที่ศาลชั้นต้นตามที่เห็นสมควร

 

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยตั้งอยู่ที่เดียวกับอาคารศาลแขวงดุสิตใหม่ ซ.สีคาม ถ.นครไชยศรี แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. ในเบื้องต้นศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง จะใช้สถานที่ทำการสองแห่งคือ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง ซ.สีคาม และศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก โดยผู้ร้องสามารถยื่นคำฟ้อง หรือคำร้องขอออกหมายต่างๆ ได้ทั้งสองแห่ง (http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.spx?NewsID 9590000098433)

 

อำนาจ พวงชมภู อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อธิบายถึงวิธีการดำเนินงานว่า ใช้ระบบไต่สวน เช่น คดีที่มีการชี้มูลจาก ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. หากไม่ถูกโต้แย้งจากคู่ความจะสามารถใช้สำนวนของคดีไต่สวน โดยไม่ต้องสืบพยานใหม่ หากจำเลยมีข้อโต้แย้ง หรือศาลเห็นว่าควรสอบพยานเพิ่มเติม ก็สามารถเชิญพยานมาสอบเพิ่มเติมได้

 

ขณะเดียวกัน ศาลมีหน้าที่ในการค้นหาความจริง และขั้นตอนการตรวจพยานหลักฐาน เมื่อคู่ความส่งเอกสารมา ศาลจะพิจารณาว่าจำนวนพยานที่ส่งมาเพียงพอ หรือจำเป็นหรือไม่ เช่น จำเลยอาจส่งพยานมา 20 ปาก แต่ศาลเห็นว่าใช้พยานเพียง 2 ปาก เป็นต้น จะเห็นได้ว่ากระบวนการเหล่านี้แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป ที่ใช้ระบบกล่าวหา ทำให้การพิจารณาคดีทุจริตมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น (http://www.tnamcot.com/content/568394)

 

ตาม พ.รบ.ข้างต้น ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีอยู่ที่ส่วนกลาง 1 แห่ง และภาค 9 แห่ง ใช้ระบบไต่สวนที่พิจารณาคดีติดต่อกันอย่างต่อเนื่องจนเสร็จการพิจารณาคดี ทำให้ใช้เวลาไม่นานมากนัก และมีถึง 3 ชั้นศาล ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์-และศาลฎีกา แต่การยื่นฎีกาจะเป็นระบบการขออนุญาต โดยศาลฎีกาตรวจดูว่าเป็นการถ่วงคดี หรือมีเหตุให้ควรยื่น     ศาลใหม่แห่งนี้จะทำให้ ‘คนโกง’ ชดใช้กรรมได้เร็วขึ้น