โพสต์พาดพิงบิ๊กตู่เป็นเหตุสั่งสอบ’รองอธิบดีอัยการ

หัวข้อข่าว: โพสต์พาดพิงบิ๊กตู่เป็นเหตุสั่งสอบ’รองอธิบดีอัยการ

ที่มา: บางกอกทูเดย์ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559

 

กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สาดซัดเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเป็นประเด็น

 

นั่นก็คือ การที่ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2543 มีคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด เลขที่ 1905/2559 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2559 เรื่องให้พนักงานอัยการช่วยราชการ และปฏิบัติราชการ โดยให้นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ไปรักษาการตำแหน่งรองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุดและให้นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดอัยการสูงสุด รักษาการในตำแหน่งรองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม เป็นต้นไป

 

เหตุที่การโยกย้ายครั้งนี้ถูกจับตามองก็เป็นเพราะ เมื่อ วันที่ 29 กันยายน นายปรเมศวร์ ได้โพสต์ข้อความใน เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “วันก่อนได้ยินมาว่าท่านนายกฯ กล่าวถึง คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และคุณศรีสุวรรณ จรรยา ที่ร้องให้มีการสอบสวนกรณีพลเอกปรีชา จันทร์โอชา และวงศาคณาญาติในหลายเรื่องตั้งแต่เรื่องฝาย เรื่องการใช้เครื่องบิน การใช้บ้านพักทางราชการตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน และการประมูลงานราชการ ว่าทั้งคุณเรืองไกร และคุณ ศรีสุวรรณ นั้นทำมาหากินอะไรถึงได้ร้องได้ทุกเรื่อง เดี๋ยว ท่านจะตรวจสอบทั้งสองคนนี้บ้าง

 

ผมอยากจะเรียนว่าทั้งสองคนนั้นท่านก็เป็นประชาชนคนไทยที่รักชาติไม่แพ้ท่านหรอกครับ เขากำลังทำหน้าที่ของ “พลเมืองดี” ที่ตรวจความไม่ชอบมาพากลตามที่ “กฎหมาย” ให้อำนาจเขาไว้ กล่าวคือ เมื่อมีกรณีน่าเชื่อว่ามีการกระทำ ความผิดทางอาญาอย่างหนึ่งขึ้น เขาซึ่งเป็นบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ “ผู้เสียหาย” ได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดีได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น ซึ่ง “ข้อร้องเรียน” ของเขานั้น นักกฎหมายเราเรียกว่า “คำกล่าวโทษ” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (8) เพื่อให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจทำการสอบสวนในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นความผิดจริงหรือไม่

 

ซึ่งเป็นบทบาทของพลเมืองดีโดยทั่วไปที่จะปกปักษ์รักษาบ้านเมืองของตน

จะต่างกับท่านนายกฯ ตรงที่ท่านมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 สั่งเลื่อนลดปลดย้ายข้าราชการต่างๆ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำทุจริตทั้งที่ยังไม่มีการสอบสวน แค่สงสัยเท่านั้น..จนครอบครัวเขาเสียชื่อเสียงไปมากมายก่ายกองและเสียหายไปชั่วลูกชั่วหลาน พอคนในตระกูลจันทร์โอชาโดนเข้าบ้าง ท่านจะไปโวยวายทำไม เหมือนกันแหละครับ ไม่โดนเองไม่ รู้สึก พอท่านรู้สึกท่านก็จะสั่งตรวจสอบเขาบ้างว่าสองท่านนี้ทำมาหากินอะไร..

 

ท่านเป็นนายกต้องระมัดระวัง คิดได้แต่อย่าคิดดัง เพราะสิ่งที่ทำคือเกียรติภูมิของประเทศนะครับ ไม่ได้สอนนะ แต่ว่าผมว่าท่านไม่เข้าใจหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อย ไม่เชื่อลองถามอาจารย์วิษณุก็ได้ ว่าพูดถูกหรือเปล่า แต่ต้องขอให้อาจารย์ตอบแบบ “ครูกฎหมาย” นะครับ อย่าตอบแบบ “เนติบริกร นะครับ”

 

ซึ่งแม้จะเป็นการโพสต์แสดงความคิดเห็นส่วนตัว และเป็นการมองในแง่มุมของกฎหมายเป็นหลัก แต่ว่าบังเอิญเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี และกลายเป็นเรื่องฮือฮาในโลกโซเชี่ยล มีการโพสต์มีการส่งต่อกัน

 

อย่างกว้างขวาง ก็เลยถูกตั้งคำถามว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสมเพียงใดกับการที่นายปรเมศวร์ไปโพสต์แสดงความคิดเห็นดังกล่าว

 

โดยอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ เป็นนายกฯ เป็นรองนายกฯ เป็นบุคคลสำคัญของประเทศ ในขณะที่นาย ปรเมศวร์ ก็เป็นข้าราชการระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุด

 

เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นร้อน ซ้อนประเด็นฮือฮาขึ้นมา ทำให้หลังจากที่โพสต์ไป 2 วัน นายปรเมศวร์ ได้ ชี้แจงเรื่องที่โพสต์ ว่า จริงๆ ไม่มีอะไร สิ่งที่เขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นการแสดงความตามหลักกฎหมาย ว่าหากมีกล่าวหาใดๆ ว่าน่าจะมีการกระทำผิดอย่างหนึ่งขึ้น ก็จะต้องให้มีการตรวจสอบในเบื้องต้นก่อน แม้บุคคลนั้นไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ได้ร้องเรียนเพื่อให้เจ้าพนักงานที่มีอำนาจสอบสวนว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความผิดหรือไม่ ก็ทำได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ที่ถือการกล่าวหานั้นเป็นคำกล่าวโทษ ซึ่งการกระทำของนายเรืองไกร และนายศรีสุวรรณ ถือเป็นหน้าที่หนึ่งของพลเมืองดี ที่เชื่อว่าอาจมีการกระทำผิดทางอาญา ตัวอย่างก็เหมือนการจับกุมปราบปรามยาเสพติด จึงแสดงความคิดเห็นว่าควรต้องให้มีการตรวจสอบก่อน ซึ่งในความเป็นผู้นำต้องระมัดระวังด้วย

 

แม้ว่าจะชี้แจงให้เข้าใจจิตเจตนาที่โพสต์ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ทันเสียแล้ว เนื่องจาก เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงาน อสส. เปิดเผยว่า อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้นายประณต ผ่องแผ้ว ผู้ตรวจการอัยการ ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเสนอความเห็นต่ออัยการสูงสุด กรณีที่นายปรเมศวร์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ข้อความดังกล่าวพาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จนสื่อมวลชนนำข้อความดังกล่าวไปเผยแพร่ต่ออย่างกว้างขวาง

 

“กรณีดังกล่าวทางสำนักงานอัยการสูงสุดยังได้มีหนังสือเวียน ลงวันที่ 4 ตุลาคม 59 กำชับให้บุคลากรของอัยการสูงสุดทั่วประเทศ ถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสาร พ.ศ.2554 อย่างเคร่งครัด”

 

เรือโทสมนึก กล่าวว่า สำนักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงว่า การเขียนเรื่องหรือข้อความของนายปรเมศวร์ เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสาร พ.ศ.2554 ข้อ 13 กำหนดการเขียนเรื่องหรือบทความเผยแพร่ทางสื่อมวลชน ให้กระทำได้ แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมาย หรือระเบียบ และต้องไม่ให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานอัยการสูงสุด บุคคลใดหรือหน่วยงานใด และไม่มีลักษณะเป็นการให้ข่าวและบริการข่าวสารของสำนักงานอัยการสูงสุดโดยผู้เขียนไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ

 

ต่อมานายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงาน อสส. ได้ระบุว่า ทางผู้บริหารของสำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนั้นระหว่างตรวจสอบเพื่อความเหมาะสม จึงเห็นควรย้ายนายปรเมศวร์จากตำแหน่งเดิมก่อน เพื่อรอผลการตรวจสอบและเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

 

ซึ่งในเรื่องนี้ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีคำสั่งโยกย้าย นายปรเมศวร์ ว่า เรื่องนี้เป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งของการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เท่านั้นเอง ส่วนกระแสข่าวว่ามีการมากดดันให้ย้ายนายปรเมศวร์นั้นขอยืนยันว่า ไม่ได้มีการกดดันมาจากผู้มี อำนาจแต่อย่างใด

 

ส่วนข้อสงสัยที่ว่าใครเป็นคนแจ้งหรือร้องให้ตรวจสอบกรณีนี้ อัยการสูงสุดกล่าวว่า เรื่องนี้นอกจากจะมีการโพสต์ลงเฟซบุ๊กแล้ว ยังมีสื่อมวลชนนำไปลงทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์ และสื่อหลักๆ ซึ่งเนื้อหามีการพาดพิงไปถึงผู้อื่นทำให้เรื่องนี้มีการตรวจสอบขึ้นมา

 

ส่วนว่าจะย้ายนายปรเมศวร์ ไปนานหรือไม่ ร.ต.ต.พงษ์ นิวัฒน์ กล่าวว่า จะต้องดูผลการสอบว่าออกมาเป็นอย่างไรถึงจะบอกได้

 

ฉะนั้นคงต้องดูว่า สุดท้ายแล้วผลสอบของ อสส. จะออกมาอย่างไร