หัวข้อข่าว: แถ
ที่มา: คอลัมน์ ขีดเส้นใต้, บางกอกทูเดย์ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย ภูวนารถ ณ สงขลา
การที่จะตัดสินอะไรว่า “ผิดหรือไม่ผิด” ในทางกฎหมายและระบบยุติธรรมแล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็จะเชื่อตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ ว่ามีวัตถุพยาน มีพยานบุคคล อย่างใดบ้างที่สามารถทำให้เชื่อได้ว่าผิดจริง
ปัญหาก็คือ แล้ว พยานบุคคล พยานวัตถุ พยานเอกสาร ฯลฯ สามารถที่จะสร้างจะปรุงแต่งกันขึ้นมาได้หรือไม่ ก็จะพบความจริงว่า สามารถทำได้ โดยเฉพาะพวกคน ฉลาดแกมโกงทั้งหลาย จะใช้ความรู้กฎหมาย ทำให้ดำเป็นขาว ทำให้ขาวเป็นดำ ทำให้ในคุกสามารถมีคนที่บริสุทธิ์ คนที่ไม่ผิดเข้าไปอยู่ในนั้นได้
ขณะเดียวกันก็ทำให้คนที่มีเส้นสาย พรรคพวก หรือมีอำนาจวาสนาบารมี รวมไปถึงมีความร่ำรวย สามารถที่จะช่วยให้เกิดสภาวะรอดพ้นคุกไปได้ แม้จะถูกเหน็บแนมนินทาว่า คุกมีเอาไว้ขังคนจนกับสุนัขก็ตาม นี่คือ ความเชื่อของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมที่ระบบยุติธรรมในวันนี้พึงยอมรับเสียเถิดว่า เป็นความรู้สึกที่มี อยู่จริงด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้คำว่า “สองมาตรฐาน” ไม่เคยที่จะจบสิ้นลงได้ แถมยังถูกนำไปขยายความทุกครั้งเพื่อหวังที่จะฟ้องให้คนเห็นพ้องด้วยกับความเชื่อนั้น
ภาระหน้าที่จึงตกหนักอยู่กับบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง จะปฏิรูปจะปรับปรุงพัฒนาแก้ไขอย่างไรให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับประเด็นเรื่องของความอคติ และการเล่นพรรคเล่นพวก ตลอดจนการถูกกดปุ่มของคนที่ต้องทำหน้าที่เพื่อให้ยุติธรรมเป็นที่ยอมรับ
ขนาดว่ามีกฎหมายเป็นมาตราที่กำหนด ที่ขีดเขียนเป็นตัวอักษรไว้อย่างชัดเจน ก็ยังเห็นได้ชัดเจนว่า “ไม่ง่ายที่จะทำให้เกิดความยอมรับเชื่อถือ” แล้วเรื่องที่อยู่บนบรรทัดฐานของคำว่า “จริยธรรม ความโปร่งใส ความเหมาะสม ความควรหรือไม่ควร” จะไม่ให้ยุ่งยากในการสร้างการยอมรับมากกว่าหลายร้อยเท่าพันทวีได้อย่างไร?
หากเมื่อใดก็ตาม ได้มีการตั้งคำถามว่า คิดว่าสมควรหรือไม่ เป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้วหรือที่กระทำเช่นนั้น แล้วคำตอบที่ได้รับ เป็นว่า เรื่องที่ทำนั้นไม่ได้ผิดกฎหมาย ไม่ได้ผิดกฎผิดข้อระเบียบใดๆ ใครๆ ก็ทำกันคิดว่าคำตอบเช่นนั้น จะสร้างการยอมรับ และทำให้เรื่องราวยุติลงได้จริงๆ หรือแม้แต่นักกฎหมายที่ว่าแน่ๆ ระดับแถวหน้าของเมือง ไทยที่ทุกขั้วอำนาจล้วนต่างพากันเรียกใช้ หากเอาข้อ กฎหมายมาอ้างในการตอบเรื่องจริยธรรม คุณธรรมเมื่อใด ศักดิ์ศรี คุณค่าของคนตอบก็ถูกกัดเซาะไปจนสิ้น เหลือไว้แต่คำว่า “แถ” เท่านั้น ที่เป็นรางวัล