หัวข้อข่าว: สิทธิประโยชน์ประชาเลี้ยง
ที่มา: คอลัมน์ คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง, มติชน ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย กล้า สมุทวณิช
และแล้วเรื่อง “ตุลาฮาวาย” ก็ดูเหมือนจะ “วาย” ไปได้ยาก เพราะแม้แต่กองเชียร์คนดังแห่ง หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
“#ทีม คสช. ยูไนเต็ด” ก็ยังออกมาแสดงอาการแบบ อ้อมๆ ว่า เรื่องนี้ไม่ไหวแล้วนะ
ทั้งๆ ที่เมื่อเทียบกับกรณีอื่นที่เป็นประเด็นปัญหาอันถูกผู้คนติฉินกันในช่วงที่ผ่านมานั้น เรื่องนี้จัดว่าห่างไกลจากการเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการ ทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดแล้ว เพราะการเดินทางไปดูงานนั้นถือเป็นการไป “ปฏิบัติราชการ” ประเภทหนึ่ง หากดูจากรูปเรื่องก็เพียงว่าบุคคลระดับสูงในรัฐบาลเดินทางไปราชการในต่างประเทศเท่านั้น
แต่ก็เพราะจุดหมายปลายทางมันบังเอิญจะเป็น “ฮาวาย” ซึ่งในมโนทัศน์ของคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
และประกอบด้วยธรรมเนียมของการไป “ดูงาน” หรือไป “ประชุม” ในต่างประเทศทั้งใกล้และไกลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐนี้เป็นที่รู้กันมานานว่าแม้ตามรูปแบบจะถือเป็นการ “ปฏิบัติราชการ” แต่ในทางความรู้สึกแล้วก็คล้ายว่าเป็นเสมือนสิทธิประโยชน์ในรูปแบบหนึ่ง
สิทธิประโยชน์ที่ถ้าใครได้รับคัดเลือกให้ไปดูงานหรือประชุมในต่างประเทศนี้ถือว่าเป็นโชคดีที่น่าอิจฉา จนหลายที่อาจจะต้องมีการเยื้อแย่งผลักดันเพื่อให้ตนได้ไป “ปฏิบัติราชการ” นอกประเทศเช่นว่านั้น เพราะนอกจากค่าเดินทางกินอยู่หลับนอนที่หลวงท่านจะออกให้หมดแล้ว แถมบางกรณีก็ยังมีสิทธิเบิก “ค่าเครื่องแต่งกาย” ได้แบบเหมาจ่ายตามสิทธิตามยศชั้นตำแหน่งด้วย
อีกทั้งการไปดูงานต่างประเทศจะต้องมีพ่วงด้วยโปรแกรม “ศึกษาศิลปวัฒนธรรม” ของประเทศที่ได้ไปก็ดี หรือแม้แต่การไปสัมมนาประจำปีของข้าราชการโดยมักจะมีเป้าหมายเป็นจังหวัดอันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็ตาม ทำให้ประชาชนทั่วไปแอบคิดไปในทางว่า ไอ้การประชุมหรือสัมมนาเหล่านี้ มันเป็นการไปประชุมผสมกับไปท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นของแถมด้วย หรือเปล่า
เพราะความรู้สึกว่าการไป “ประชุมหรือดูงานต่างประเทศ” หรือการไป “สัมมนาต่างจังหวัด” ของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าระดับไหนมันเหมือนการไป “เที่ยวฟรีด้วยภาษีประชาชน” นี่เอง ทำให้เรื่องนี้เมื่อเปิดเผยออกมาแล้ว ประชาชนผู้เสียภาษีจึงรู้สึก “สะเทือน” กันมากกว่าเรื่องอื่นๆ
ซึ่งถ้ากล่าวกันอย่างยุติธรรมแล้ว การเดินทางไป “ประชุมต่างประเทศ” นั้นแตกต่างจากการเดินทางไป “ดูงานต่างประเทศ” ในแง่ที่ว่า การเดินทางไปดูงานนั้นเป็นเรื่องที่หน่วยราชการประสงค์จะให้เจ้าหน้าที่ไปดูงานต่างประเทศนั้นเป็นผู้เสนอเรื่องขอไปเอง ซึ่งในหนังสือพิมพ์คุณภาพเพื่อคุณภาพของประเทศปัจจุบันมีนโยบายแล้วว่าไม่ให้ข้าราชการหรือหน่วยงานกระแสทรรศน์ของรัฐจัดไปดูงานในต่างประเทศโดยไม่จำเป็น แต่เรื่องการไปประชุมนั้นเป็นเรื่องที่ทางการต่างประเทศเขาเป็นฝ่าย “เชิญ” เจ้าหน้าที่ของเราไปประชุมเอง ทั้งในบางการประชุมนั้นก็เป็นการประชุมที่จัดกันมาหลายรอบหลายปีแล้ว ซึ่งทางการไทยก็จำเป็นจะต้องส่งคนไปเพื่อความต่อเนื่อง
แต่ก็เพราะความรู้สึกที่ว่าการไปราชการ “นอกสถานที่” ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมันเหมือนกับมีการแอบแฝงไปเที่ยวนั่นเอง และหลายกรณีก็เหมือนจะเป็นเช่นนั้นเสียด้วย อย่างที่เคยมีกรณีที่หน่วยงานหนึ่งจัดไปประชุมนอกสถานที่แล้วมีปัญหาว่าไม่มีการประชุมจริง ทั้งเรื่องของกำหนดการที่ไม่สอดรับกับความเป็นจริงและรูปแบบการจัดโต๊ะจัดเวทีที่เหมือนเป็นการไปกินเลี้ยงโต๊ะจีนกันเสียมากกว่า ก็ถูกศาลพิพากษาจำคุกกันไปแล้วก็มี หรือการไปดูงานต่างประเทศที่ไปเปิดกำหนดการดูร้อยทั้งร้อยก็จะพบว่ามีวันติ่งหรือชั่วโมงว่างให้ไปศึกษาศิลปวัฒนธรรมของประเทศที่ไปประชุมหรือดูงานนั่นก็อีก
และนอกเหนือจากนั้น ในความรู้สึกของผู้ที่ต้องเสียภาษีและไม่ได้ทำงานราชการ ก็ยังรู้สึกอยู่ตลอดมาว่า บุคลากรที่ใช้สิทธิราชการได้นั้นมี “สวัสดิการ” ซึ่งถือกันว่าอยู่ยอดสุดของระบบสิทธิประโยชน์ทั้งหลายในประเทศ เช่น สิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลซึ่งดียิ่งกว่าไปทำประกันชั้นไหนๆ และยังมีสวัสดิการ อื่นๆ อีกมาก รวมถึงโอกาสในการไปกู้ยืมต่างๆ ที่บรรดาสถาบันการเงินผู้ให้กู้นั้นจะมองข้าราชการเป็นลูกค้าชั้นดีมีโปรโมชั่นแถม เพราะมีแหล่งรายได้ที่มั่นคง แน่นอน
ยิ่งถ้ารับราชการในตำแหน่งสูงขึ้นไป ก็จะมีสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก เช่น สิทธิมีรถยนต์ประจำตำแหน่งที่มักจะเป็นรุ่นเป็นยี่ห้อที่หรูหรากว่ารถยนต์ทั่วไปที่ผู้เสียภาษีโดยเฉลี่ยมีใช้ หรืออย่างเดี๋ยวนี้ข้าราชการระดับกลางค่อนสูงขึ้นไปในหลายหน่วยงานก็มีสิทธิได้รับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตฟรีประจำตำแหน่งให้ใช้ด้วย
ด้วยเหตุเพราะ “สิทธิประโยชน์” ของข้าราชการนี้ล้วนมาจากภาษีประชาชนส่วนใหญ่นี่เอง ทำให้ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับการใช้ “สิทธิประโยชน์” ของบรรดาข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ให้ภาพออกมาหรูหราฟุ่มเฟือยเกินพอดี จึงเกิดแรงกระเพื่อมลูกใหญ่ในสังคมที่ไม่ว่าจะมีรสนิยมทางการเมืองไปในข้างไหนก็แอบรู้สึกจุกเจ็บกันได้ ยิ่งถ้ารายละเอียดได้รับการขยายออกมามากเท่าไร เช่น การเดินทางไปประชุมของท่านๆ นั้นระหว่างเดินทางมีไข่คาเวียร์อย่างดีหรือเครื่องดื่มชั้นเลิศบนเครื่องบินชั้นหนึ่งออกมา ชาวบ้านที่กินยำไข่มดแดงและเดินทางด้วยสายการบินโลว์คอสต์ แต่ต้องมาช่วยออกเงินผ่านภาษีนานารูปแบบให้ท่านไป “ประชุม” กันแบบเฟิร์สต์คลาส ก็คงแอบเปรียบเทียบนึกถึงไม่ได้
ในสมัยก่อน เขาถือว่าการรับราชการนั้นเป็นงาน “พระยาเลี้ยง” แต่ด้วยบริบทปัจจุบันที่ถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เป็นผู้เสียภาษีที่เอาไปหล่อเลี้ยงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ จึงอาจจะต้องถือว่างานราชการนั้นเป็นงาน “ประชาเลี้ยง”
เช่นนี้ในการใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะในเรื่องของ “สิทธิประโยชน์” ต่างๆ จึงออกจะต้องรักษาความรู้สึกของประชาชนผู้เสียภาษีให้มากเป็นพิเศษด้วยว่าหากเรื่องการใช้จ่ายดังกล่าวนั้นถูกเปิดเผยมาให้รับรู้ไม่ว่าโดยทางใดๆ แล้ว จะทำให้ผู้ที่จะต้องจ่ายเงินเพื่อเลี้ยงดูสิทธิประโยชน์เหล่านั้นเกิดความสะเทือนใจด้วยหรือไม่ว่า เงินภาษีของพวกเขาถูกนำไปใช้อย่างล้นเหลือเฟือฟาย สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าความจำเป็นในการทำงานรับใช้ประชาชน หรือเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะพึงมีพึงได้
ไม่ต้องเอาเรื่องใหญ่ขนาดเช่าเหมาลำเครื่องบินไปประชุมต่างประเทศกันแบบชั้นหนึ่งก็ได้ เอาแค่สิทธิประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ที่ท่านข้าราชการตำแหน่งต่างๆ ที่มีสิทธิได้รับ “iPhone 7 ฟรี จากภาษีประชาชน” ก็อย่าเพิ่งยกขึ้นมาอวดเพื่อนอวดฝูงที่ยังผ่อนโทรศัพท์รุ่นเก่าไม่หมดเลย