ทำมาพิบาน

หัวข้อข่าว: ทำมาพิบาน

ที่มา: คอลัมน์ ศุกร์ เว้น ศุกร์, กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม, warapatr@gmail.com

 

ผู้บริหารมักพูดว่าองค์กรของเขามีธรรมาภิบาลแต่จริงๆ แล้วเขาอาจสะกดว่า ทำมาพิบาน ก็ได้… คือมันไม่มีความหมายอะไรเลย

 

ไม่น่าเชื่อว่า ความวุ่นวายของการบริหารมหาวิทยาลัย จะเกิดขึ้นรุนแรงจนหัวหน้า คสช. ต้องใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลที่มหาวิทยาลัย มีผลใช้บังคับทันทีกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

 

วันที่ 3 ต.ค. คสช. ประกาศให้มหาวิทยาลัยบูรพา และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก อยู่ภายใต้ข้อบังคับของ คำสั่ง คสช. ด้วย

 

สถาบันอุดมศึกษา เป็นองค์กรที่เพียบพร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผมคิดว่าเราพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็น “สังคมอุดมปัญญา” เพราะคณาจารย์สำเร็จปริญญาเอก ปริญญาโท จำนวนมากมาย มีตำแหน่งทางวิชาการสูง และคนที่เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา ฯ รวมทั้งอธิการบดีและคณะผู้บริหาร ก็ได้รับ ความเคารพจากคนในสังคมตลอดมา แต่บางแห่งกลับมีปัญหาวุ่นวาย ทั้งๆ ที่มีสติปัญญากันทุกคน แก้ปัญหากันเองไม่ได้ ยืดเยื้อเรื้อรัง จนบางครั้งมีการทำลายทรัพย์สิน ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นได้ในสังคม อุดมปัญญาเช่นนี้

 

ผมติดตามธรรมาภิบาลมา 20 ปี มีความเห็นว่า “บริษัทเอกชน” เป็นแห่งแรกที่ปัญหาธรรมาภิบาลได้ปรากฏชัดขึ้น ในช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง และนักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศ กดดันให้แก้ไข ถ้าไม่ทำอะไร เขาก็จะไม่เข้ามาลงทุน

 

จากนั้น “รัฐวิสาหกิจ” ก็เป็นรายต่อไป เพราะมีเรื่องราว ของความไม่มีธรรมาภิบาลเกิดขึ้นให้สังคมได้เห็นตลอดเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน กระทรวงการคลังจึงกำหนดมาตรการ ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รัฐวิสาหกิจพัฒนาธรรมาภิบาลให้ดีขึ้น ล่าสุดก็กำลังออกกฎหมายที่จะจัดตั้ง “บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ” ซึ่งน่าจะมีผลใช้บังคับต้นปี2560 นี้

 

คราวนี้ถึงเวลาของ “มหาวิทยาลัย” ซึ่งมีเรื่องความขัดแย้ง ในการบริหาร เกิดขึ้นเป็นระยะๆ อยู่แล้ว ล่าสุดต้นปีนี้ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง มีความขัดแย้งในระดับกรรมการสภาฯ และการตีความว่าใครคืออธิการบดีกันแน่ ซึ่งก็มีผลกระทบต่อจิตใจของนักศึกษา ที่กำลังจะรับปริญญาในช่วงนั้นพอดี

 

สรุปได้ว่าโครงสร้างการกำกับดูแลมหาวิทยาลัย ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไข เท่าที่ผมอ่านคำสั่ง คสช. ฉบับวันที่ 12 ก.ค. 2559 นั้น นอกจากจะกำหนดวิธีการที่จะจัดการกับปัญหา ที่เกิดขึ้นแต่ละแห่งให้จบลงโดยเร็วแล้ว ยังมีความพยายามที่จะจัดโครงสร้างธรรมาภิบาลในอนาคต ให้ดีขึ้นอีกระดับหนึ่งด้วย

 

เช่นระบุไว้ว่า นายกสภามหาวิทยาลัย จะต้องรับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ไม่เกิน 3 แห่ง กรรมการสภาฯ ได้ไม่เกิน 4 แห่ง และนายกสภาฯ รวมทั้งกรรมการสภาฯ ไม่มีสิทธิได้รับค่าเบี้ยประชุมและสิทธิประโยชน์อื่นใดจากมหาวิทยาลัย นอกจากตำแหน่งดังกล่าวเท่านั้น ยกเว้นได้รับความเห็นชอบจาก รมว. ศึกษาธิการ ฯลฯ

 

เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ผมไปช่วยตลาดหลักทรัพย์ฯ และต่อมาก็ไปช่วยกระทรวงการคลังในการกำหนดกติกาเกี่ยวกับธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนและของรัฐวิสาหกิจ ตามลำดับ ในยุคแรกนั้นประเด็นที่เราทำกันก็เป็นเรื่อง โครงสร้างของคณะกรรมการ ว่าควร มีจำนวนเท่าใด องค์ประกอบและคุณสมบัติของกรรมการควรเป็น เช่นใด ควรเป็นได้กี่แห่ง ต่อมาก็พูดถึงค่าตอบแทนที่เหมาะสมฯลฯซึ่งวันนี้ ก็เริ่มแก้ไขประเด็นเหล่านี้ที่มหาวิทยาลัยกันแล้ว

 

ถึงแม้การใช้ ม.44 ครั้งนี้ จะทำให้การแก้ปัญหาธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัยได้ผลเร็วขึ้น แต่ผมคิดว่าไม่เพียงพออย่างแน่นอนที่จะต้องเร่งทำในเวลาเดียวกันก็คือ การ “ปฏิรูปโครงสร้างและกลไก ธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัย” อย่างครบวงจร โดยนำองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่เราได้เรียนรู้กันใน 20 ปีที่ผ่านมา สังเคราะห์และประยุกต์ใช้กับมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้กติกาธรรมาภิบาลที่แข็งแรง และยั่งยืน เราแก้ไขธรรมาภิบาล จากบริษัทมหาชน จนถึงรัฐวิสาหกิจ และนาทีนี้ ก็ถึงมหาวิทยาลัยแล้ว ผมอดคิดไม่ได้ว่าเมื่อไรจะถึง “วัด”เสียทีเพราะวัดวาอารามของเราก็มีอาการธรรมาภิบาลชำรุด จนชาวพุทธสุดจะทน เวียนวนอยู่หลายแห่ง เช่นกัน

 

“ทำมาพิบาน” ของสถานแห่งธรรม ซึ่งอาจจะแปลว่า “ทำไป ทำมา ปัญหาเบ่งบาน” จะได้เป็น “ธรรมาภิบาล” จริงๆ เสียที….แต่ว่าใครจะเป็นคนทำล่ะ