จุดเปลี่ยนที่ทำให้ภาคเอกชนตื่นตัวร่วมขบวนแก้คอร์รัปชัน

หัวข้อข่าว: จุดเปลี่ยนที่ทำให้ภาคเอกชนตื่นตัวร่วมขบวนแก้คอร์รัปชัน

ที่มา: คอลัมน์ เขียนให้คิด, ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

 

เมื่อสองเดือนก่อน ผมได้เขียนถึงความสำคัญของภาคธุรกิจเอกชนในการที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยได้เล่าถึงช่องทางต่างๆ ที่บริษัทเอกชนสามารถจะเข้ามามีบทบาทร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการที่บริษัทต่างๆ จับมือรวมพลังกันปฏิเสธการทุจริตและการจ่ายสินบน แนวคิดนี้บางคนที่อาจจะเคยได้ยินได้ฟังแล้วนึกหยันว่าเป็นแค่ความเพ้อฝันในอุดมคติที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงในบ้านเมืองของเรา

 

          ในวันนี้ผมอยากจะเล่าให้ทุกท่านฟังถึงความก้าวหน้าของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC ซึ่งเดินหน้ามาไกลมากแล้วภายในระยะเวลาแค่ 6 ปีนับจากเริ่มก่อตั้ง ซึ่งความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ทำให้โครงการนี้กลายเป็นที่สนใจ จนโครงการต่อต้านคอร์รัปชันในต่างประเทศต้องขอเรียนรู้จากประสบการณ์การดำเนินงานและความก้าวหน้าในด้านการต่อต้านทุจริตของภาคเอกชนไทยโครงการ CAC เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 โดยสมาคมธุรกิจที่สำคัญของประเทศ 8 องค์กร คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าต่างประเทศ สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสถาบันกรรมการบริษัทไทย ซึ่งรับหน้าที่เลขานุการโครงการ และเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนโครงการด้วย

 

          ในการเข้าร่วมโครงการ CAC บริษัทเอกชนสามารถเข้าร่วมได้โดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับ และไม่มีค่าใช้จ่าย ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับ CAC แต่หลังการประกาศเจตนารมณ์แล้ว บริษัทมีพันธะที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้มีการกำหนดนโยบาย แนวปฏิบัติ รวมถึงระบบควบคุมภายในองค์กรเพื่อป้องกันการทุจริตให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด และต้องให้ผู้ตรวจสอบภายนอกทำการสอบทานว่ามีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจริง พร้อมทั้งยื่นหลักฐานยืนยันการดำเนินการเพื่อประกอบการพิจารณาขอรับการรับรองจากคณะกรรมการ CAC  ให้ได้ภายในระยะเวลา 18 เดือน กระบวนการรับรองของ CAC นี้ เป็นกระบวนการที่มีความเข้มข้น และถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นกลไกที่จะดูแลให้บริษัทที่เข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์มีการดำเนินการเพื่อวางระบบป้องกันการทุจริตภายในองค์กรจริง ไม่ใช่เพียงแค่มาประกาศเจตนารมณ์และถ่ายรูปทำพีอาร์โดยไม่ได้ลงมือทำอะไรจริงจังเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

 

          โครงการ CAC นอกจากจะเปิดพื้นที่ให้บริษัทธุรกิจสามารถเข้ามามีบทบาทในการร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือ และใช้พลังของการรวมตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในวิธีการทำงานของระบบราชการและการให้บริการของภาครัฐ เพื่อสร้างระบบที่มีความโปร่งใสและปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันอีกด้วย

 

          นับจากวันแรกที่โครงการ CAC เริ่มก่อตั้งขึ้นในเดือน พ.ย.ปี 2553 ที่มี 23 บริษัท เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับโครงการ ถึงวันนี้จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 732 บริษัท และในจำนวนนี้มี 177 บริษัท ที่ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ในจำนวนบริษัทที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ 732 บริษัทนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพลังทางเศรษฐกิจสูง โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนถึง 360 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมกันถึงเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดรวมของตลาดหุ้นไทย นอกจากนี้ยังมีบริษัทลูกของบริษัทข้ามชาติอีกหลายแห่ง และบริษัทขนาดกลางและเล็กอีกจำนวนมากที่กระจายอยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ต่างพากันตบเท้าเข้ามาเป็นแนวร่วมต่อต้านการทุจริตกับ CAC  มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากความน่าเชื่อถือของโครงการ CAC ที่เกิดจากการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและเป็นมืออาชีพแล้ว ผมคิดว่ามีจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างน้อย 3 จุดที่ทำให้โครงการเติบโตแบบก้าวกระโดด และบริษัทเอกชนตื่นตัวในการที่จะเข้ามาร่วมวงเป็นเครือข่าย CAC

 

          จุดเปลี่ยนแรก คือ การที่ทุกสมาคมธุรกิจในภาคการเงินเข้ามาร่วมโครงการแบบยกสมาคม ทั้งธนาคารพาณิชย์  บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิตไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทในธุรกิจตลาดทุน และธุรกิจประกัน การที่ธุรกิจในภาคการเงินทั้งหมดเข้ามาร่วมโครงการ CAC แสดงถึงการที่ภาคการเงินซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทยยอมรับและให้ความสำคัญกับโครงการ CAC ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการช่วยสร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือของโครงการ CAC  จุดเปลี่ยนที่สอง คือ แรงสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย ที่ร่วมกันผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ ซึ่งการประกอบธุรกิจอย่างปลอดคอร์รัปชันก็เป็นเครื่องชี้ด้านธรรมาภิบาลของบริษัทที่สำคัญ ทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อต้านการทุจริตทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ

 

          ในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก็สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลเรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติของบริษัทในเรื่องการต่อต้านทุจริตให้นักลงทุนทราบ ส่วนสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ก็ได้มีโครงการอาสาพิทักษ์สิทธิ์ผู้ถือหุ้นซึ่งมีการส่งตัวแทนไปร่วมประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัท และสอบถามคณะกรรมการบริษัทถึงความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท

 

          ทั้งแรงหนุนจากทางการ และแรงทวงถามจากนักลงทุน ล้วนมีส่วนสนับสนุนให้มีบริษัทจดทะเบียนเข้ามาร่วมโครงการ CAC เป็นจำนวนมาก เพราะการเป็นสมาชิก CAC ถือเป็นการสื่อสารที่ชัดเจนที่สุดว่าบริษัทให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตและมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม จุดเปลี่ยนที่สาม คือ การขยายการทำธุรกิจอย่างสะอาด ปลอดคอร์รัปชันจากบริษัทที่ผ่านการรับรองไปสู่กลุ่มบริษัทที่เป็นบริษัทคู่ค้าให้เข้ามาร่วมโครงการ เพื่อขยายพื้นที่ธุรกิจสะอาดให้กว้างขวางมากขึ้น ในปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่ผ่านการรับรองแล้วและได้ต่อยอดเชิญชวนบริษัทคู่ค้าในห่วงโซ่การผลิตของบริษัท ให้มาเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC เพื่อขยายเครือข่ายการทำธุรกิจสะอาดให้เกิดขึ้นตลอดกระบวนการผลิต ตัวอย่างที่น่าชื่นชม ได้แก่ บริษัท สมบูรณ์แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่ได้ชักชวนบริษัทคู่ค้า 89  บริษัท เข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการเมื่อต้นปีนี้ และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ได้ชักชวนบริษัทในห่วงโซ่ การผลิตทั้งหมด 41  agent ด้วยการพยายามขยายเครือข่ายธุรกิจสะอาดออกไปให้ครอบคลุมถึงคู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ของบริษัทในลักษณะนี้แล้ว เชื่อแน่ว่าจำนวนบริษัทที่ทำธุรกิจอย่างสะอาดและโปร่งใสก็จะทวีคูณอย่างรวดเร็ว และเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการทำธุรกิจในประเทศไทยให้กลายเป็นระบบที่ไม่มีพื้นที่ให้กับการทุจริตคอร์รัปชันอีกต่อไป

 

          ในโอกาสนี้ ผมขอถือโอกาสเชิญชวนให้ท่านที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องของการต่อต้านทุจริตในภาคเอกชน เข้าร่วมงานสัมมนาประจำปีของ CAC ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 7 ในหัวข้อ “Ethical Leadership : Combating Corruption Together” ในวันที่ 18 ต.ค.2559 เวลา 10.00-16.00 น. ที่ห้องนภาลัย บอลรูม โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ภายในงานจะมีผู้ทรงคุณวุฒิและนักธุรกิจชั้นแนวหน้าจากต่างประเทศและในประเทศ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ตรงที่เกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตในภาคเอกชน นอกจากนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษในช่วงท้ายของงานสัมมนาในวันนั้นด้วย

          หวังว่าจะได้พบกันนะครับ.