ศาลคดีโกงรับฟ้องยงยุทธแปลงที่วัดเป็นสนามกอล์ฟ

หัวข้อข่าว: ศาลคดีโกงรับฟ้องยงยุทธแปลงที่วัดเป็นสนามกอล์ฟ

ที่มา: ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

 

รัชดาภิเษก * “วิญญาณยายเนื่อม” เฮี้ยน! ดลใจ ป.ป.ช.ยกเอกสาร 8 ลังฟ้อง “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” วัย 74 ปีต่อศาลทุจริต กรณีแปลง “ที่ดินธรณีสงฆ์” เป็นสนามกอล์ฟอัลไพน์ ศาลคดีโกงประทับรับฟ้อง นัดตรวจหลักฐาน 13 ธ.ค.นี้

 

เมื่อวันอังคาร ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้นำพยานหลักฐานเป็นเอกสาร 8 ลัง เดินทางมายื่นฟ้องนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อายุ 74 ปี อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2555 ป.ป.ช. ได้ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ชี้มูลความผิดกรณีกล่าวหานายยงยุทธเมื่อ ครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัด มท. รักษาราช การแทนปลัด มท. ได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดินซึ่งจด ทะเบียนในนามสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งแบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และเลขที่ 1446 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อัน เป็นการโอนที่ธรณีสงฆ์โดยมิชอบ ซึ่ง ป.ป.ช. เสียงข้างมากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมี มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราช การโดยมิชอบ

 

โดยคดีสนามกอล์ฟอัลไพน์นั้น เป็นคดีที่สืบเนื่องจากกรณี ป.ป.ช.กล่าวหานายเสนาะ เทียนทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐ มนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จ.ปทุมธานี สาขาธัญบุรี ว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้า ที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต กรณีจดทะเบียนโอนมรดกและโอนขายที่ธรณีสงฆ์ของวัด ธรรมิการามวรวิหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ละเว้นไม่ดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว โดยนายเสนาะไม่อนุญาตให้วัดธรรมิการามฯ ได้มาซึ่งที่ดินทั้งสองแปลงที่นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.2512 และเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2533 ผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนเปลี่ยนผู้จัดการมรดกและขายที่ดินนั้นให้แก่บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด กับบริษัท อัลไพน์กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ในราคา 142,000,000 บาท โดยทั้งสองบริษัทได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อชำระหนี้ไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด เป็นเงิน 220,000,000 บาท และจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองอีก 70,000,000 บาท ภายหลังบริษัทได้ไถ่ถอนจำนอง และรังวัดแบ่งขายให้บุคคลอื่น

 

สำหรับที่ดินบริเวณสนามกอล์ฟอัลไพน์ ได้โอนขายหุ้นในบริษัทให้นางกาญจนาภา หงษ์เหิน 10 หุ้น, นายชัยวัฒน์ เชียงพฤกษ์ กับ น.ส.บุญชู เหรียญประดับ คนละ 24,899,987 หุ้น และนายวิชัย ช่างเหล็ก 24,988,986 หุ้น ซึ่งเป็นคนงาน คนขับรถในครอบครัวของนายทักษิณ  ชินวัตร เมื่อปี 2541 ต่อมาบุคคลทั้งสามได้โอนขายหุ้นให้กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร น.ส.พินทองทา ชินวัตร และ ด.ญ.แพทองธาร ชินวัตร ภรรยาและบุตรของนายทักษิณ

 

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2553 มีมติว่า ที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดธรรมิการามฯ ผู้รับพินัยกรรมโดยผลของกฎหมายทันที ไม่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือทำการรับมรดก หรือเข้าครอบครองที่ดินมรดก ที่ดินจึงตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ตั้งแต่นางเนื่อมถึงแก่กรรม การจดทะเบียนโอนขายที่ธรณีสงฆ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของนายเสนาะที่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้วัดได้มาซึ่งที่ดินมรดกทั้งสองแปลง จึงเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งยังใช้อำนาจโดยมิชอบตามมาตรา 157 และมาตรา 148 แต่ความผิดตามมาตรา 157 ขาดอายุความแล้ว แม้ ป.ป.ช.จะฟ้องคดีนายเสนาะ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ศาลได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่ได้ตัวจำเลยไปศาลภายในกำหนดอายุความ ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นๆ คดีได้ขาดอายุความไปก่อนแล้ว

 

ส่วนกรณีนายยงยุทธ ป.ป.ช.มีมติให้แยกเรื่องออกมา และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการไต่สวนชุดเดิมดำเนินการต่อไป ซึ่งพบว่าอธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 ให้ยกเลิกโฉนดที่แบ่งแยกและเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดก แต่มีผู้มีส่วนได้เสียได้ร้องอุทธรณ์ กรมที่ดินจึงมีคำสั่งยกอุทธรณ์ แล้วจึงส่งคำอุทธรณ์ไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อนายยงยุทธในฐานะรองปลัด มท.ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนปลัด มท.พิจารณาแล้ว จึงได้สั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ทั้งที่คำสั่งของอธิบดีที่ดินได้ยึดถือปฏิบัติตามความเห็นของที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเห็นว่าที่ดินนั้นเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามฯ การโอนที่ธรณีสงฆ์ต้องกระทำโดยออกเป็นพระราชบัญญัติ การจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่บุคคลอื่นนอกจากวัด ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมมิได้

 

ป.ป.ช.จึงเห็นว่า การที่นายยงยุทธ ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงเป็นการกระทำอันมิชอบ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราช การโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

 

ทั้งนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ประทับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีหมายเลขดำ อท.38/2559 และสอบคำให้การนายยงยุทธแล้ว ซึ่งแถลงให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ ซึ่งนายยงยุทธได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท ขอปล่อยชั่วคราว โดยศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้นายยงยุทธปล่อยชั่วคราวไป โดยตีราคาประกัน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่รับอนุญาตจากศาล.