หัวข้อข่าว: กลไกไม่ปกติ!
ที่มา: คอลัมน์ มอบรอบทิศ, เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย พยัคฆ์น้อย
มีโอกาสคุยกับ นายนพดล หลาวทอง ทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณี รมช.คลัง และปลัดกระทรวงการคลังในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นเงินกว่า 35,000 ล้านบาท
นายนพดลบอกว่า ทีมทนายความกำลังรวบรวมข้อมูลเอกสาร เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่ออุทธรณ์คำสั่งการเรียกค่าเสียหายให้เร็วภายในเดือน พ.ย. นี้ แม้จะมีกำหนดเวลาให้ดำเนินการได้ภายใน 90 วัน แต่ทีมทนายคงไม่ยืดเวลาออกไป เนื่องจากคำสั่งทางปกครองไม่เป็นธรรม ไม่ใช่กลไกปกติ! จึงต้องร้องขอให้ศาลคุ้มครองโดยเร็วที่สุด
อันที่จริงปัญหานี้ ต้องนำเข้าสู่กลไกที่ปกติ คือ “ศาลแพ่ง” ถ้าไปที่ศาลแพ่ง รัฐบาลก็ไม่ต้องออกคำสั่งคุ้มครองใคร แล้วไม่ต้องเร่งรีบยึดทรัพย์! เพราะศาลยังไม่สั่ง เมื่อศาลยังไม่สั่ง! กรมบังคับคดีจะไปยึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้อย่างไร?
นายนพดลเป็นทนายที่เคยสู้คดีปก ป้องค่าเงินบาทเมื่อปี 40 ให้กับ นายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) จนศาลฎีกาตัดสินยกฟ้องยเริงชัยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายกว่า 180,000 ล้านบาท ให้กับแบงก์ชาติ อธิบายเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวไว้อย่างน่าสนใจว่า
- โครงการรับจำนำข้าว ถือเป็นการทำหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกร เป็นนโยบายรัฐบาล ซึ่งทำในนามคณะบุคคล คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน จากหลายกระทรวง เช่น พาณิชย์ เกษตรฯ มหาดไทย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการระดับจังหวัด มีความเกี่ยวข้องตั้งแต่เอาข้าวเปลือกของชาวนาไปเข้าโรงสี
- เงินทุนที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว มาจากงบประมาณซึ่งมีไว้ลงทุนพัฒนาประเทศ โดยไม่ได้มุ่งกำไร และทราบว่าช่วง 2 ปีครึ่ง (5 ฤดูการผลิต) ของโครงการรับจำนำข้าว มีการโอนเงินจาก ธ.ก.ส. ไปให้ชาวนาโดยตรง 870,000 ล้านบาท ช่วยให้ชาวนา มีกำลังซื้อ จึงมีเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจมากมาย
- ขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ถูกชี้มูลว่าทุจริต! แค่ถูกชี้มูลว่าปล่อยปละละเลย กรณีดังกล่าวต้องแยกให้ชัดว่าอดีตนายกรัฐมนตรีอยู่ในระดับนโยบาย ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งเป็น เรื่องเฉพาะบุคคล ไม่เกี่ยวกับระดับนโยบาย ทั้งการระบายข้าว-ข้าวหาย ล้วนเป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติทั้งสิ้น ซึ่งมีผู้รับผิดชอบในทุกขั้นตอนชัดเจนอยู่แล้ว
- ค่าเสียหายในโครงการสาธารณะ คิดแค่เรื่องกำไร-ขาดทุนไม่ได้ จะไปคิดต้น ทุนซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาตันละ 15,000 บาท หักลบด้วยราคาข้าวสารที่ขายออกไป ผลที่ออกมาคือขาดทุน! ถือเป็นความเสียหายไม่ได้ และไม่มีประเทศไหนในโลกคิดแบบนี้ เนื่องจากโครงการสาธารณะ ไม่มีใครคิดเรื่องผลกำไร-ขาดทุน
- โครงการประกันราคาข้าว ใช้เงินจำนวนมากเช่นกัน แต่รัฐไม่มีข้าวแม้แต่เม็ดเดียว ต้องมีคนรับผิดชอบหรือไม่? รวมทั้งกรณี ปรส. ตัดสินจบไป 3 ศาล อดีตนายกรัฐมนตรีต้องจ่ายค่าเสียหายกลับคืนให้รัฐหรือไม่?
รวมทั้งโครงการสาธารณะอื่น ๆ เช่น มิยาซาวา ไทยเข้มแข็ง เช็คช่วยชาติ ใช้เงินงบประมาณมลายหายไปทั้งสิ้น แต่ยังไม่มีนายกรัฐมนตรีในอดีต ต้องรับผิดชอบกับความเสียหาย จากผลกำไร-ขาดทุน
แม้กระทั่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท เข้าไปอุดหนุนชาวสวนยางพาราในหลายมาตรการ และแจกเงินไร่ละ 1,000 บาท ให้ชาวนา ครอบ ครัวละไม่เกิน 10 ไร่ แบบนี้พูดเรื่องกำไรขาดทุนได้หรือไม่? ชาวบ้านมีกำลังซื้อ ขึ้นมาหรือเปล่า?
คำตอบมีให้เห็นอย่างชัดเจนจากสภาพทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน!.