หัวข้อข่าว: ศาลปราบโกงเริ่มเดิน รับฟ้อง”ยงยุทธ”คดีอัลไพน์ทำหลายคนสะดุ้ง!!
ที่มา: คอลัมน์ เมืองไทย 360, ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559
นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางประทับรับฟ้องคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้อง ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ในฐานะรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 จากการแปลงที่ดินธรณีสงฆ์มาเป็น “สนามกอล์ฟอัลไพน์” โดยศาลได้นัดตรวจหลักฐานในวันที่ 13 ธันวาคมนี้
หากย้อนรอยปฐมบทของเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องยาวแบบ “มหากาพย์” ก็ว่าได้ และยังมีเรื่องของความเชื่อและกรรม แบบโบราณเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้ ที่เรียกว่าใครที่พยายามเข้าไปมีเจตนาเบียดบังที่ดิน “ธรณีสงฆ์” หรือทรัพย์สินของวัดไปเป็นอย่างอื่น โบราณเขาถือว่าจะมีอันเป็นไป หรือจบไม่สวยทุกราย
ตัวอย่างกรณีของยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินธรณีสงฆ์แปลงนี้ แม้ว่าเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเท่าใดก็ตาม แต่ก็ยังตามหลอนไม่จบสิ้น จากที่เริ่มขึ้นในราวปี 2544 มาจนถึงตอนนี้ เขาอายุในวัย 74 ปี ก็ยังต้องมาขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตฯ มองอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเหมือนกัน และแม้ว่าที่ผ่านมาหลังจากที่เขาดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทยและดำเนินการในเรื่องที่ดินแปลงดังกล่าว จนกระทั่งในเวลา ต่อมาแปลงเป็น “สนามกอล์ฟอัลไพน์” เป็นหมู่บ้านจัดสรร เส้นทางของยงยุทธ จะดูเหมือนรุ่งโรจน์ เพราะได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองนายกฯ และยังเป็นถึงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่ ขณะเดียวกันอาจจะเป็น “กรรม” ที่ว่านั้นหรือเปล่าก็ไม่อาจ ทราบได้ เพราะเขาก็ไม่อาจอยู่เป็นสุขนับตั้งแต่นั้นมา ต้องถูกนินทา ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนกระทั่งนำไปสูงการถูก อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทยมีมติไล่ออกเนื่องจากทำผิดวินัยร้ายแรงจากกรณีดังกล่าวย้อนหลัง มีผลต่อเงินบำนาญและอีกหลายอย่าง รวมไปถึงต้องพ้นจากตำแหน่งรองนายกฯ และหัวหน้าพรรค เพื่อไทยในขณะนั้น ถือว่าปิดฉากทางการเมืองแบบไม่สวยเลย
อย่างไรก็ดี เรื่องราวก็ยังไม่จบอยู่แค่นั้น เพราะหลังจากที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบัน ซึ่งสามารถพิจารณาคดีข้าราชการที่กระทำผิด ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ก็โดนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำเรื่องที่ดินสนามอัลไพน์มาฟ้องร้องในฐานะผู้กระทำผิดในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา 157 เสี่ยงคุกในบั้นปลายชีวิต
หากย้อนอดีตเพื่อทบทวนความจำดังนี้ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2555 ป.ป.ช.ได้ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ชี้มูลความผิดกรณีกล่าวหานายยงยุทธเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดมหาดไทยรักษาราชการแทนปลัด มท. ได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดินซึ่งจดทะเบียนในนามสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งแบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และเลขที่ 1446 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อันเป็นการโอนที่ธรณีสงฆ์โดยมิชอบ ซึ่ง ป.ป.ช.เสียงข้างมากเห็นว่าการกระทำ ดังกล่าวมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
สำหรับคดีสนามกอล์ฟอัลไพน์นั้น เป็นคดีที่สืบเนื่องจากกรณี ป.ป.ช.กล่าวหานายเสนาะ เทียนทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จ.ปทุมธานี สาขาธัญบุรี ว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต กรณีจดทะเบียนโอนมรดก และโอนขายที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ละเว้นไม่ดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว โดยนายเสนาะ ไม่อนุญาตให้วัดธรรมิการามฯ ได้มาซึ่งที่ดินทั้งสองแปลงที่ นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าว ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.2512 และเมื่อ วันที่ 21 ส.ค.2533 ผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนเปลี่ยนผู้จัดการมรดกและขายที่ดินนั้นให้แก่บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด กับบริษัท อัลไพน์กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ในราคา 142,000,000 บาท โดยทั้งสองบริษัทได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อชำระหนี้ไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด เป็นเงิน 220,000,000 บาท และจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองอีก 70,000,000 บาท ภายหลังบริษัทได้ไถ่ถอนจำนอง และรังวัด แบ่งขายให้บุคคลอื่น สำหรับที่ดินบริเวณสนามกอล์ฟอัลไพน์ ได้โอนขายหุ้นในบริษัทให้นางกาญจนาภา หงษ์เหิน 10 หุ้น, นายชัยวัฒน์ เชียงพฤกษ์ กับ น.ส.บุญชู เหรียญประดับ คนละ 24,899,987 หุ้น และนายวิชัย ช่างเหล็ก 24,988,986 หุ้น ซึ่งเป็นคนงาน คนขับรถในครอบครัวของนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อ ปี 2541 ต่อมาบุคคลทั้งสามได้โอนขายหุ้นให้กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร น.ส.พินทองทา ชินวัตร และ ด.ญ.แพทองธาร ชินวัตร ภรรยาและบุตรของนายทักษิณ
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2553 มีมติว่า ที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดธรรมิการามฯ ผู้รับพินัยกรรมโดยผลของกฎหมายทันที ไม่ต้อง จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือทำการรับมรดก หรือเข้า ครอบครองที่ดินมรดก ที่ดินจึงตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ตั้งแต่ นางเนื่อมถึงแก่กรรม การจดทะเบียนโอนขายที่ธรณีสงฆ์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของนายเสนาะที่มีคำสั่ง ไม่อนุญาตให้วัดได้มาซึ่งที่ดินมรดกทั้งสองแปลง จึงเป็นคำสั่ง ที่มิชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งยังใช้อำนาจโดยมิชอบตาม มาตรา 157 และมาตรา 148 แต่ความผิดตามมาตรา 157 ขาดอายุความแล้ว แม้ ป.ป.ช.จะฟ้องคดีนายเสนาะ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ศาลได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่ได้ตัวจำเลยไปศาลภายในกำหนดอายุความ ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นๆ คดีได้ขาดอายุความ ไปก่อนแล้ว
ส่วนกรณีนายยงยุทธ ป.ป.ช.มีมติให้แยกเรื่องออกมา และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการไต่สวนชุดเดิมดำเนินการ ต่อไป ซึ่งพบว่าอธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 ให้ยกเลิกโฉนดที่แบ่งแยกและเพิกถอนรายการจดทะเบียน โอนมรดก แต่มีผู้มีส่วนได้เสียได้ร้องอุทธรณ์ กรมที่ดินจึงมี คำสั่งยกอุทธรณ์ แล้วจึงส่งคำอุทธรณ์ไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อนายยงยุทธในฐานะรองปลัด มท.ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนปลัด มท.พิจารณาแล้ว จึงได้สั่งเพิกถอน คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ทั้งที่คำสั่งของอธิบดีที่ดินได้ยึดถือปฏิบัติตามความเห็นของที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเห็นว่าที่ดินนั้นเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามฯ การโอนที่ธรณีสงฆ์ต้องกระทำโดยออกเป็นพระราชบัญญัติ การจำหน่าย จ่ายโอนให้แก่บุคคลอื่นนอกจากวัด ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมมิได้
ป.ป.ช.จึงเห็นว่า การที่นายยงยุทธ ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงเป็นการกระทำอันมิชอบ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
แน่นอนว่านับตั้งแต่นาทีนั้นเป็นต้นมาสำหรับ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ถือว่าเข้าสู่ “บ่วงกรรม” สมบูรณ์แบบ จากเท่าที่เห็น ก็คือเมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลปราบปรามทุจริตและประกันตัวไปด้วยวงเงิน 2 แสนบาทโดยศาลกำหนดเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล เสียก่อน แม้ว่าคดีนี้จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะตัดสิน แต่การที่ต้องมาขึ้นศาลในคดีทุจริตในวัย 74 ปี มันก็คงไม่รื่นรมย์แน่นอน
ขณะเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับ คดีทุจริตทั้งในอดีตและอนาคตที่จะต้องถูกนำขึ้นศาลใน ลักษณะเฉพาะ ซึ่งแนวโน้มน่าจะรอดยากเสียด้วย !!.