กฎเหล็กคุมเข้มใช้งบซื้อสื่อ ต้องรายงานทุกบาทห้ามเบี้ยว

หัวข้อข่าว: กฎเหล็กคุมเข้มใช้งบซื้อสื่อ ต้องรายงานทุกบาทห้ามเบี้ยว

ที่มา: โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 โดย ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

 

เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเอกฉันท์ 167 เสียงเห็นชอบกับรายงานร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารการประชาสัมพันธ์ ในภาครัฐเพื่อความโปร่งใส พ.ศ.

 

ของคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

ประเด็น “การซื้อสื่อของภาครัฐ” เป็นอีกหนึ่งปัญหาย่อยของการทุจริตในภาครัฐที่พบในรูปแบบของการใช้งบประมาณที่ไม่ระบุแน่ชัดว่าไปใช้เพื่อ อะไร และเพื่อให้ได้เป้าประสงค์ใด เนื่องจากการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ไม่มีมาตรฐานและไม่คุ้มค่า ขณะเดียวกันในส่วนของสื่อ ซึ่งถือว่าเป็นกระบอกเสียงให้แก่ประชาชน หากถูกครอบงำโดยรัฐจะทำให้การนาเสนอข่าวหรือการรับรู้ข้อมูลของประชาชนเป็นไปด้วยวิธีการที่ไม่ตรงไปตรงมา สูญเสียความเป็นอิสระในการทำหน้าที่เปิดเผยหรือการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ ซึ่งช่องทางของรัฐในการแทรกแซงสื่อมี 3 ช่องทาง ได้แก่

 

1.เป็นเจ้าของสื่อเองโดยตรง อย่างโทรทัศน์และวิทยุ ทำให้การครอบงำสื่อของรัฐเป็นไปค่อนข้างง่ายและสื่อโทรทัศน์สามารถเข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด

 

2.เป็นผู้ให้สัมปทานสื่อในช่อง โทรทัศน์และวิทยุ แต่ปัจจุบันมีการประมูล ทีวีดิจิทัลส่งผลให้อำนาจดังกล่าวลดน้อยลง

 

3.ซื้อสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อที่น่าห่วงที่สุดที่จะถูกครอบงำ โดยรัฐ เพราะเป็นธุรกิจเสรีมีการแข่งขันสูงและอาจถูกซื้อได้มากกว่าสื่ออื่นๆ ประกอบรัฐไม่มีธุรกิจนี้เป็นของตัวเองและมีแนวโน้มว่าสื่อหนังสือพิมพ์จะ เข้าถึงประชาชนได้เร็วมากขึ้น จากการปรับตัวเพื่อสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่ม เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและในหลายช่องทาง อาทิ หนังสือออนไลน์ หนังสือ แจกฟรี เป็นต้น

 

สำหรับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารการประชาสัมพันธ์ในภาครัฐเพื่อความโปร่งใส มีจำนวน 28 ข้อ มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารการประชาสัมพันธ์ในภาครัฐเพื่อความโปร่งใส (กบป.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ มอบหมาย ทาหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการ

 

คณะกรรมการ กบป.มีอำนาจ หน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการบริหารการประชาสัมพันธ์ในภาครัฐเพื่อความโปร่งใส โดยต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการประชุมครั้งแรกและประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

1.ข้อความที่แสดงว่าดำเนินการ โดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือเงินนอกงบประมาณ หรือเงินกู้

 

2.เป็นภารกิจหรือการดำเนินงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานในภาครัฐ

 

3.เป็นการรณรงค์ การโฆษณา การประชาสัมพันธ์เฉพาะในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานในภาครัฐที่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของประชาชน การคุ้มครองหรือรักษาความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี หรือสุขอนามัยของประชาชน ความคืบหน้าตลอดจนปัญหาหรือ อุปสรรคในการดำเนินการตามนโยบายโครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ การส่งเสริมภาพลักษณ์และค่านิยมที่ดี และ การสร้างความเชื่อมั่นด้านต่างๆ ของประเทศ

 

4.ไม่มีข้อความหรือภาพเสียงของผู้บริหารของหน่วยงานในภาครัฐ นักการเมืองหรือข้าราชการการเมือง รวมทั้งต้องไม่มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง หรือมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์

 

หน่วยงานในภาครัฐต้องบริหารการประชาสัมพันธ์ด้วยความโปร่งใส มีความพร้อมที่จะรับผิดและถูกตรวจสอบได้ ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและไม่มีความเสี่ยงการทุจริต และให้หน่วยงานในภาครัฐที่จัดให้มีการบริหารการประชาสัมพันธ์ตามระเบียบนี้ต้องเปิดเผยข้อมูลการบริหารการประชาสัมพันธ์ไว้ในระบบดิจิทัลของหน่วยงานนั้นๆ ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่เริ่มดำเนินการ และจัดทำรายงานผลการบริหารการประชาสัมพันธ์ที่ได้มีการดำเนินการไปแล้วตลอดทั้งปีเผยแพร่ในรูปของเอกสาร และในระบบดิจิทัลภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ

 

ข้อมูลที่หน่วยงานในภาครัฐต้องเปิดเผยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูล ได้แก่ 1.จำนวนเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ หรือเงินกู้ที่ใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์เป็นรายแผนงาน หรือ โครงการ 2.สำเนาสัญญาจัดซื้อจัดจ้างงานรณรงค์เผยแพร่ หรือเงินโฆษณา หรืองานประชาสัมพันธ์ 3.ผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมการรณรงค์ การโฆษณา หรือการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งระบุผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์

 

คณะกรรมการ กบป.มีอำนาจวินิจฉัยการดำเนินการของหน่วยงานในภาครัฐที่พบว่าอาจมีการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริต หรือมีข้อร้องเรียน การวินิจฉัยของคณะกรรมการ กบป.อาจเป็นการสั่งห้ามให้หน่วยงานในภาครัฐมีการปฏิบัติใดเพิ่มเติมหรือยับยั้งการปฏิบัติการใดๆ ที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือเป็นการแทรกแซงสื่อ หรือการใช้จ่ายงบประมาณที่เข้าข่ายการทุจริต ไม่คุ้มค่าหรือขาดประสิทธิภาพ

 

กรณีที่เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริต หรือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้คณะกรรมการ กบป.ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

 

กรณีเป็นการแทรกแซงสื่อโดย ให้ หรือสนับสนุนทางการเงิน อาทิ การลงโฆษณา หรือการมีสัญญาซื้อ หรือสัญญาจ้าง ให้คณะกรรมการ กบป. สั่งให้หน่วยงานในภาครัฐมีการพิจารณาทบทวน เพื่อยกเลิก เพิกถอน ในกรณีเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ ให้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อหัวหน้าหน่วยงานในภาครัฐรับผิดชอบเพื่อให้ดำเนินการทางวินัยและอาจเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งโยกย้ายหรือพักการปฏิบัติงานผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในภาครัฐนั้น