ร้องสตง.เร่งสอบปปช.จ้างสภาทนายฯไม่ชอบ

หัวข้อข่าว: ร้องสตง.เร่งสอบปปช.จ้างสภาทนายฯไม่ชอบ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

 

ยื่นหนังสือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเร่งฟันกรณี ป.ป.ช.จ้างสภาทนายความฟ้องคดี ส่อไม่ชอบด้วยกฎหมาย- เสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะทนายความ ได้ยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง เพิ่มเติมต่อผู้ว่าการตรวจเงิน แผ่นดินเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อประกอบการพิจารณา เกี่ยวกับ กรณีที่คณะกรรมการป.ป.ช.ว่าจ้างสภาทนายความฟ้องคดี น่าจะ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่ เสียหายต่อการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน  หนังสือดังกล่าวมีใจความสรุปได้ว่า พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 7 บัญญัติว่า สภาทนายความ มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาด้านกฎหมายเพื่อส่งเสริมวิชาชีพให้ทนายความมีความรู้ด้านกฎหมายต่างๆ ไม่มีวัตถุประสงค์หรือเกี่ยวข้องในการรับจ้างคดีความหรือจัดหาทนายความฟ้องคดีต่างๆ อีกทั้งในมาตรา 78 ยังบัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายจะต้องเป็นผู้ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่านั้น

 

เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2557 นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการป.ป.ช. จะให้สภาทนายความรับว่าความ หลายคดี โดยสภาทนายความ จะจัดหาทนายความว่าความให้ เช่น คดีทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิง คดี หวยบนดิน คดีกล้ายาง เป็นต้น และเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2557 นายอุทิศ สวยรูป รองประธานกรรมการมรรยาททนายความ มีหนังสือแจ้งให้ นายบัญชา ในฐานะผู้ร้องว่าสภาทนายความมีวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 7 ไม่เคยรับจ้างเป็นทนายความให้ ป.ป.ช. การว่าจ้างเป็นการตกลงกันระหว่างคณะกรรมการป.ป.ช. กับทนายความ ไม่เกี่ยวข้องกับ สภาทนายความ ซึ่งขัดกับคำให้สัมภาษณ์ของนายเดชอุดม ทั้งที่ ทั้ง 2 คนเป็นผู้บริหารสภาทนายความ หากคณะกรรมการป.ป.ช.ว่าจ้างสภาทนายความดำเนินคดีต่างๆ ด้วยเงินสูงหลายล้านบาท จะทำให้หน่วยราชการต่างๆ สามารถว่าจ้างสภาทนายความให้จัดหาทนายความฟ้องคดีต่างๆ โดยจ่ายค่าจ้างสูงเทียบเคียงกัน  จะทำให้เกิดความเสียหายต่อการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งมีสำนักงานอัยการสูงสุด ทำหน้าที่เป็นทนายความของ แผ่นดินตามกฎหมาย หน่วยราชการต่างๆ ไม่ต้องเสียค่าจ้างให้กับอัยการอยู่แล้ว

 

ทั้งนี้ คตง.มิใช่ศาล ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการคตง. จึงสมควรนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อให้ศาลมีคำวินิจฉัย เพราะศาลเป็นองค์กรสุดท้ายที่มีหน้าที่วินิจฉัยและมีคำพิพากษา