หัวข้อข่าว: ดรีมทีม ‘ผู้ว่าฯ กทม.‘ ชุดใหม่ ภารกิจด่วนจัดระเบียบใช้งบ 7.6 หมื่นล้าน
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
ทีมผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชุดใหม่ เผยโฉมหน้าออกมาครบทุกเก้าอี้ทั้ง 4 รองผู้ว่าฯ คณะที่ปรึกษาและโฆษกล้วน เป็นอดีตข้าราชการ กทม. เพื่อน รุ่นน้อง และโควตาที่ผู้ใหญ่ใน “คสช.” ส่งมานั่ง
โดย “บิ๊กวิน-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ตัดแบ่งงานสำคัญให้กับรองผู้ว่าฯในโควตาของตัวเอง มอบหมายให้ “จักกพันธุ์ ผิวงาม” อดีตรองปลัด กทม. คุมงานสำนักสำคัญ อาทิ สำนักการโยธา ระบายน้ำ สิ่งแวดล้อม งบประมาณ
ส่วน “พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน” อดีตนายตำรวจรุ่นน้อง ให้ดูสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ด้าน “วรรณวิไล พรหมลักขโณ” อดีตรองปลัด กทม. ที่ขึ้นชื่อเรื่อง ความมีระเบียบและวินัย ให้ดูสำนักการคลัง การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ กทม. และสถานธนานุบาล
ขณะที่ “ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์” ว่ากันว่า เป็นโควตาจาก “บิ๊ก คสช.” ซึ่งโตมาจากสายโยธา แต่กลับมอบหมายให้ดูสำนักการแพทย์ ผังเมือง อนามัย พัฒนาที่อยู่อาศัย ไม่รู้มีนัยอะไรซ่อนเร้น ทำให้ “บิ๊กวิน” มอบงานแบบผิดฝา ผิดตัว
“ผมว่าการมอบหมายงานไม่จำเป็นต้องจบสายตรงกับงานที่เกี่ยวข้อง ถึงจะจบวิศวะแต่ก็ทำงานอื่นได้ เพราะมีผู้ปฏิบัติอยู่แล้ว คุณแค่บริหารได้ก็จบ” คำชี้แจงจาก พล.ต.อ.อัศวิน
อย่างไรก็ตาม หลังดรีมทีมผู้ว่าฯ กทม.ใหม่ประกาศออกมายังเป็นที่กังขาในเสาชิงช้าว่า เป็นเหล้าเก่าที่เขย่า ใส่ขวดใหม่ เมื่อดูชื่อที่ถูกแต่งตั้งล้วน เป็นคนคุ้นเคยกับผู้ว่าฯ กทม.ชุดเก่าหลายยุค ไม่ว่า “คุณชายหมู-ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร” และ “หล่อเล็ก-อภิรักษ์ โกษะโยธิน” แห่งค่ายประชาธิปัตย์แต่เมื่อ “กทม.” ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ต้องเลือกใช้บริการ คนเก่าที่รู้งานดีกว่าดึงหน้าใหม่เข้ามา และต้องนับหนึ่งใหม่เพราะนับถอยหลัง จากนี้ “รัฐบาล คสช.” มีเวลาเหลือน้อย เต็มที
ทำให้ “บิ๊กวิน” พ่อเมือง กทม.คนใหม่ที่มาด้วยคำสั่ง “ม.44” ต้องเร่งบี้งานเฉพาะหน้า และสางขยะใต้พรมที่ซุกมานานให้จบโดยเร็วสมกับที่รัฐบาล คสช.ไว้เนื้อเชื่อใจ
“การทำงานของ พล.ต.อ.อัศวินกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะคนละสไตล์กัน ผู้ว่าฯคนเก่าจะไม่ค่อยพูด ส่วนคนใหม่จะเด็ดขาด ชัดเจน มีคำถามก็ต้องชี้แจง อะไรทำได้ ไม่ได้ ขณะที่ทีมรองผู้ว่าฯทั้ง 4 คน ก็คุ้นกับงาน กทม.เพราะเคยเป็นทั้งที่ปรึกษาและข้าราชการ กทม.มาก่อน การทำงาน กทม.ช่วงนี้ยังมีงานที่ต้องสานต่อหลายงาน ต้องเลือกคนที่เข้ามาแล้วทำได้เลย ไม่ต้องนับ หนึ่งใหม่” แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า งานเร่งด่วนผู้ว่าฯ กทม. นอกจากแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ กทม.ให้เสร็จโดยเร็ว ยังต้องบริหารการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2560 จำนวน 75,635 ล้านบาทให้มีความโปร่งใส รวมถึงจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้า เพราะปีนี้ตั้งเป้าไว้สูงมากต้องกำชับ 50 เขตจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ให้ครอบคลุมและเข้าเป้า ซึ่งค่อนข้างยากท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจแบบนี้
“ต้องจัดระเบียบการใช้เงินของแต่ละโครงการให้อยู่ในวินัย ไม่ให้มีการร้องเรียนเรื่องการทุจริตเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงการรักษาเงินคงคลังที่เหลือน้อยให้ใช้ได้ต่อไปอีก เพราะที่ผ่านมามีการดึงไปใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมาก”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่จับตาสัญญาจ้างระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่ง กทม.ต้องหาเงินคืนให้ รฟม.กว่า 6 หมื่นล้านบาท ขณะนี้การเจรจากับบีทีเอสยังไม่จบ รวมถึงการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีทองที่เอกชนจะลงทุนให้เคที 2,000 ล้านบาท โดยว่าจ้างบีทีเอสจัดหาและเดินรถให้ เนื่องจากจะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) เคทีใหม่ยกชุดแทนชุดเก่าที่ลาออก ยังไม่รู้จะสะดุดหรือเดินหน้าต่อไป
ด้าน “ภัทรุตม์ ทรรทรานนท์” ปลัด กทม.กล่าวว่า งานโครงการต่าง ๆ ยังเดินหน้าต่อทุกโครงการ สำหรับงานด่วนจะเป็นไปตามสภาพการณ์ปัจจุบัน เช่น พระราชพิธีพระบรมศพ แก้ปัญหาน้ำท่วม แก้ปัญหาจราจร ส่วนงานตามนโยบายรัฐบาลก็ทำตามกรอบเวลา อาจจะล่าช้าไปบ้างก็พยายามหาทางแก้ไขให้โครงการเดินหน้า เช่น ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานเกียกกาย รื้อผู้บุกรุกริมคลองลาดพร้าว จัดระเบียบทางเท้า เป็นต้น