หัวข้อข่าว: ‘เมียนมา‘ ติดโผเบอร์ 1 ‘การค้าผิดกฎหมาย‘
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
แม้ “เมียนมา” จะก้าวผ่านมาสู่การเป็น “ประชาธิปไตย”แต่ความท้าทายในการตาม แก้ปัญหาเก่าก็ไม่ง่าย และหนึ่งของ ปัญหาทั้งมวลก็คือเรื่อง “การคอร์รัปชั่น”โดยนิตยสาร Frontier Myanmar รายงานอ้างอิงผลศึกษา “อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต” (อีไอยู) หน่วยงาน วิเคราะห์เศรษฐกิจของนิตยสารอีโคโนมิสต์ ระบุว่า “เมียนมา” เป็นประเทศที่มีการค้า ผิดกฎหมายมากสุดในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก
โดยการวัดผลมุ่งเน้นศึกษาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าผิดกฎหมายมากที่สุด รวมถึงปัจจัยความเข้มงวดของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ความโปร่งใสทางการค้า รวมถึงดีมานด์ซัพพลายของสินค้าผิดกฎหมายที่ปรากฏในประเทศ
ที่ผ่านมาเมียนมามีระบบการจัดการปัญหาดังกล่าวค่อนข้างต่ำ จาก 100 คะแนนเต็ม เมียนมาสามารถจัดการได้เพียง 10.8 คะแนนเท่านั้น ขณะที่เพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา สอบได้คะแนนมากกว่าเล็กน้อยอยู่ที่ 12.9 และ 23.9 คะแนนตามลำดับ
ขณะที่ “ออสเตรเลีย” เป็นประเทศมีความสามารถในการจัดการปัญหาการค้าผิดกฎหมายได้ดีที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก ได้คะแนนสูงถึง 85.2 คะแนน ตามด้วย นิวซีแลนด์ 81.8 คะแนน, ฮ่องกง 81.4 คะแนน, ญี่ปุ่น 75.9 คะแนน ส่วนประเทศไทยได้ 53.1 คะแนน
“เจเรมี ดักลาส” เจ้าหน้าที่ประจำทวีปเอเชีย-แปซิฟิก สำนักงานป้องกัน ยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) กล่าวว่า ปัญหาการค้าสิ่งผิดกฎหมาย ในเมียนมา ช่วงที่ผ่านมามีการ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่มีดีมานด์จากประเทศนำเข้ารายใหญ่ ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่นิยมนำเข้าไม้ทำเชื้อเพลิงจากเมียนมา นอกจากนี้ยัง มีอุตสาหกรรมอัญมณี ที่จีนเป็น ประเทศคู่ค้าที่มีเอี่ยวกับการลักลอบขนส่งผิดกฎหมายมากที่สุด
รายงานระบุว่า เมียนมายังเป็นประเทศที่มีแรงจูงใจสูงให้มีการค้าผิดกฎหมาย เนื่องจากปัจจัยของดีมานด์และซัพพลาย ตัวอย่าง เช่น กระแสความต้องการอัญมณี “หยก” และ “ทับทิม” ที่เพิ่มขึ้นจากจีน ทำให้มูลค่าในปัจจุบันมีค่ายิ่งกว่าทองคำ หยกที่ พบส่วนใหญ่จะถูกส่งไปขายที่ประเทศจีน เพราะคนจีนส่วนใหญ่ให้คุณค่า กับหยกมากกว่าประเทศอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ชาวเมียนมากลับไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสินแร่เหล่านี้ แม้ว่าจะมีอยู่อย่างมากมาย เพราะมูลค่ามหาศาลนี้ทำให้เกิดการต่อสู้ของกองกำลังติดอาวุธ และเกิดการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นขบวนการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ยิ่งกว่านั้นเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศทบทวนกฎระเบียบการจัดเก็บภาษีสินแร่ที่ยังไม่ผ่านการถลุง จาก 15% เป็น 20% ภายในปีนี้ ได้สร้างความกังขาต่อผู้ประกอบการ ท้องถิ่นมากขึ้นถึงผลประโยชน์เบื้องหลัง ที่รัฐบาลจะได้
“เมียนมาเป็นประเทศเดียวใน อาเซียน ที่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็น รูปธรรม ส่งผลให้การค้าผิดกฎหมาย อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ สปป.ลาว ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอ่อนแอ”นายดักลาสระบุ
ทั้งนี้ “อู ถานห์ มินท์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เปิดเผยเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางออง ซาน ซู จี ได้ยกเครื่องแผนกำกับดูแลการค้าผิดกฎหมาย พร้อมจะใช้ทีมเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อติดตาม ข้อมูลการค้าตามแนวชายแดนและ กำกับการค้าผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อสามารถติดตามผู้กระทำผิดได้ทัน ท่วงที รวมถึงพัฒนาระบบตรวจสอบสินค้ารูปแบบใหม่
คาดว่าจะนำร่องกับท่าเรือและสนามบินในเมืองย่างกุ้งเป็นแห่งแรก ก่อนจะพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับรูปแบบการค้าชายแดนในอนาคต