หัวข้อข่าว: เก้าอี้รัฐมนตรีมีไว้ขาย?
ที่มา: ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สร้างข่าวฮือฮา โดยบอกนักข่าวว่าจะใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาบางเรื่อง เพื่อเขียนกฎหมายพรรคการเมือง ตัวอย่างเช่น การจ่ายเงินให้หัวหน้าพรรค เพื่อแลกตำแหน่งรัฐมนตรี ถือว่าเป็นการซื้อขายตำแหน่งต้องระวางโทษถึงประหาร ชีวิต สำหรับคนที่เรียกรับเงิน ส่วนผู้จ่ายเงินก็จะมีโทษรุนแรงเช่นกัน
การซื้อขายตำแหน่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ทั้งในวงข้าราชการและนักการเมือง เริ่มต้นด้วยการใช้เส้นสายวิวัฒนาการมาเป็นการซื้อตำแหน่ง การซื้อเสียงก็คือการซื้อตำแหน่ง ส.ส. ในระยะเริ่มแรกที่มีการซื้อเสียงในภาคอีสาน มีสูตรสำเร็จว่า “ผู้ใหญ่พัน กำนันแสน ผู้แทนล้าน (บาท)”
สูตรนี้เป็นเรื่องที่พูดกันในสมัยที่ยังไม่มี อบต. ขณะนี้เปลี่ยนแปลงไปมากจำนวนเงินซื้อเสียงก็เพิ่มขึ้นหลายเท่า อบต. เป็นองค์กรหนึ่งซึ่งมีข่าวการซื้อเสียงและมีการซื้อขายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ ส่วนในการเมืองระดับชาติอาจมีบางพรรคที่เรียกเงินจากผู้ต้องการตำแหน่งรัฐมนตรี โดยอ้างว่าเพื่อหาเงินเข้าพรรค เพื่อช่วยเหลือผู้สมัครอื่นๆ
การที่ข้าราชการบางหน่วยงาน ต้องซื้อตำแหน่งด้วยเงินก้อนโตถึง 50 ล้านบาท หรือนักการเมืองต้องซื้อเก้าอี้รัฐมนตรี ด้วยเงินนับร้อยๆล้านบาท เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะจะต้องมีการใช้ตำแหน่งหน้าที่ถอนทุนแสวงประโยชน์โดยมิชอบ จากโครงการต่างๆของรัฐ และทำให้รัฐเสียหายปีละหลายแสนล้าน
แนวความคิดที่จะออกกฎหมาย เพื่อลงโทษประหารชีวิตหัวหน้าพรรคที่ขายตำแหน่งรัฐมนตรี อาจเป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตทางการเมือง แต่โทษประหารไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกฎหมายอาญาก็กำหนดโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต สำหรับเจ้าพนักงานหรือนักการเมืองที่เรียกรับสินบน การขายตำแหน่งก็น่าจะเข้าข่าย
แต่ดูเหมือนว่านักการเมืองหรือข้าราชการจะไม่ได้เกรงกลัวโทษประหาร เพราะยังมีการทุจริตโกงกินอย่างมโหฬาร และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะระบบพรรคพวกเพื่อนพ้องน้องพี่ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาแต่ลูบหน้าปะจมูก ที่น่ากังวลก็คือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อาจทำให้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอ่อนแอ
นั่นก็คือบทเฉพาะกาลที่ให้ คสช. แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ส.ว. เป็นองค์กรผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจ กกต. หรือ ป.ป.ช.ที่มาจากการแต่งตั้งของ ส.ว. (ซึ่ง คสช. แต่งตั้ง) จะตรวจสอบนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่มาจาก คสช. โดยอิสระโปร่งใสและตรงไปตรงมาหรือไม่.