คดีสำคัญที่ต้องจับตา

หัวข้อข่าว: คดีสำคัญที่ต้องจับตา

ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12, มติชน ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

 

ในวันนี้ทั่วทั้งสังคมไทยกำลังเรียกร้องต้องการการปราบปรามคอร์รัปชั่น การปกป้องดูแลงบประมาณแผ่นดินอย่างจริงจัง กลายเป็นกระแสใหญ่ ชนิดที่เรียกว่าใครไม่สนใจให้น้ำหนักในเรื่องนี้ แทบจะถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับคนเลว คนขี้โกงไปเลยทีเดียว

 

ครั้นพูดถึงการปราบปรามทุจริต ย่อมต้องนึกถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.

 

แล้วก็มีคดีที่ ป.ป.ช.กำลังถูกร้องเรียน อยู่ในการพิจารณาของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.เพื่อสรุปส่งต่อไปยังคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง.เพื่อชี้ขาด

 

นั่นคือคดีที่มีทนายความซึ่งเป็นสมาชิก สปท. ไปยื่นร้องให้สอบสวนคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่ไปว่าจ้างสภาทนายความฟ้องคดีที่พบว่ามีมูลทุจริตต่างๆ น่าจะเป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมายและสร้างความเสียหายต่อการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน

 

เมื่อ ป.ป.ช.โดนร้องเสียเอง ในเรื่องที่เกี่ยวกับเงินงบประมาณแผ่นดิน

จึงเป็นหน้าที่ของ สตง.และ คตง. ต้องตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา

เพราะองค์กรหลักด้านการจับคนโกงและรักษาเงินงบประมาณของชาติ ต้องสะอาดกว่าใครอื่น

 

เรื่องที่กลายเป็นปัญหาถูกยื่นร้องให้ตรวจสอบนั้น ผู้ร้องระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ว่าจ้างสภาทนายความ ให้จัดหาทนายไปทำหน้าที่ฟ้องร้องคดีทุจริตต่างๆ ให้กับ ป.ป.ช.

 

จึงน่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายหลายข้อสถานีคิดได้แก่ ผิด พ.ร.บ.ทนายความ 2528 มาตรา 7 ซึ่งกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของสภาทนายความ โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือเกี่ยวข้องกับการรับจ้างหรือจัดหาทนายความฟ้องคดีต่างๆ เ ล ข ที่อีกทั้งใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังเขียนไว้ด้วยว่า ประชาชนผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย จะต้องเป็นผู้ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่านั้น

 

การรับว่าจ้างจาก ป.ป.ช.จึงน่าจะขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ทนายความดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ผู้บริหารของสภาทนายความเองเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ให้สภาทนายความจัดหาทนายไปรับว่าความหลายคดี คดีทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิง คดีหวยบนดิน คดีกล้ายาง เป็นต้น

 

ในส่วนข้อร้องเรียนประเด็นความเสียหายต่อเงินงบประมาณแผ่นดินนั้น ผู้ร้องชี้ว่า ปกติมีสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ทำหน้าที่ทนายความแผ่นดินตามกฎหมายอยู่แล้ว หน่วยราชการต่างๆ ไม่ต้องเสียเงินค่าจ้างให้กับอัยการที่ทำหน้าที่ฟ้องร้องคดีต่างๆ

 

การที่ ป.ป.ช.ไปว่าจ้างสภาทนายความดำเนินคดีต่างๆ ด้วยค่าจ้างสูงหลายล้านบาท จะทำให้หน่วยราชการต่างๆ สามารถว่าจ้างในทำนองเดียวกัน โดยจ่ายค่าจ้างเทียบเคียงกัน จะทำให้เกิดความเสียหายต่อการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินตามมาอีก

 

นี่เป็นคดีที่น่าสนใจอย่างมาก และเป็นที่จับตามองของคนในสังคม

 

ข่าวว่า สตง.เองก็ได้พิจารณาตรวจสอบอย่างเคร่งเครียดเพื่อส่งให้ คตง.ชี้ขาด โดยคาดว่าสัปดาห์หน้าจะเป็นช่วงสำคัญที่ห้ามกะพริบตาเลยทีเดียว

 

เรื่องใหญ่ขนาดนี้ จะตัดสินกันอย่างมีข้อครหา มากด้วยข้อน่าสงสัยใดๆ ไม่ได้

 

ถ้าหากย้อนกลับไปมองกรณีเมื่อหลายปีก่อน ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดหนึ่ง ถูกร้องเรียนให้สอบสวน ลงเอยมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลให้พิจารณาวินิจฉัย ผลการพิพากษาที่ปรากฏออกมา ทำให้ทุกฝ่ายต้องน้อมรับ และเป็นคดีบรรทัดฐานที่ทุกหน่วยราชการต้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ

 

ดังนั้น คดีนี้ คตง.อาจใช้แนวทางเดียวกันนี้เพื่อเป็นทางออก อันจะปราศจากข้อเคลือบแคลงใดๆ ตามมา