หัวข้อข่าว: กรุงไทยโละทิ้งเคทีบีลีสซิ่งชี้บริหารพลาดพนักงานทุจริต
ที่มา: เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมีนโยบายรวมบริษัทกรุงไทย ธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด หรือเคทีบีลีสซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เข้ามาอยู่ในธนาคาร ซึ่งจะทำให้ต่อไปการบริหารธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ จะอยู่ภายใต้การบริหารของธนาคารกรุงไทย แต่การให้บริการรถเช่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะผิดเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจรถเช่า
“เคทีบีลีสซิ่งมีปัญหาเยอะ โดยเฉพาะเรื่องสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้วเป็นหนี้เสียจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากระบบการบริหารจัดการไม่ดี และไม่มีการควบคุมความเสี่ยงที่ดี ทำให้สินเชื่อที่ปล่อยไปกลายเป็นหนี้เสีย และหนี้เสียที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากลูกค้าใหม่ ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคารกรุงไทย ซึ่งการนำธุรกิจสินเชื่อรถยนต์เข้ามาอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย จะทำให้การบริการและการควบคุมความเสี่ยงทำได้ดีขึ้น”
ทั้งนี้ธนาคารได้สั่งให้เคทีบีลีสซิ่ง หยุดปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าใหม่มา ระยะเวลาหนึ่งแล้ว ส่วนลูกค้ารายเดิมยังให้บริการเป็นปกติ และเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา นายชัยรัตน์ กมลนรเทพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เคทีบีลีสซิ่ง ได้ลาออกจากตำแหน่งไป และได้แต่งตั้ง นายวิรัตน์ เตียระกุล กรรมการ เคทีบีลีสซิ่ง ขึ้นมารักษาการตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และหลังจากธนาคารได้นำงานสินเชื่อรถยนต์เข้ามาอยู่กับธนาคารกรุงไทย การอนุมัติสินเชื่อจะผ่านหน่วยงาน โลนแฟคเตอริ่ง ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของธนาคาร และการบริหารความเสี่ยงของธนาคารที่มีความเข้มงวด
ด้านนายประสิทธิ์ วสุภัทร ประธานกรรมการ เคทีบีลีสซิ่ง กล่าวว่า การปิดบริษัทเคทีบีลีสซิ่ง และนำธุรกิจเช่าซื้อมาอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย ต้องรอมติคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย โดยปัญหาหนี้เสียของเคทีบีลีสซิ่งที่เกิดขึ้นได้เข้าไปตรวจสอบ และเมื่อผลสอบออกมาพบว่าพนักงานมีการกระทำทุจริต ได้มีการลงโทษไล่ออกไปแล้วหลายคน ส่วนธุรกิจให้บริการรถเช่าที่ธปท.ไม่อนุญาตให้ธนาคารกรุงไทยดำเนินการ ช่วงที่ผ่านมาได้มีการเจรจากับบริษัทกรุงไทย ไอบีเจ ลีสซิ่ง จำกัด ให้ซื้อพอร์ตรถเช่าไปเรียบร้อย แล้ว พร้อมกับรับโอนย้ายพนักงานในส่วน ดังกล่าวไปด้วย อย่างไรก็ตามมีลูกค้าที่เช่ารถยนต์ส่วนหนึ่งที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐ ต้องการอยู่กับเคทีบีลีสซิ่งต่อไป
“พนักงานของเคทีบีลีสซิ่งจาก เดิม 900 คน ปัจจุบันเหลือ 500-600 คน การตัดสินใจเกี่ยวกับพนักงานกลุ่มนี้ ขึ้นอยู่กับธนาคารกรุงไทยว่าจะดำเนินการอย่างไร ในส่วนของเคทีบีลีสซิ่งจะ ดูแลพนักงานให้ดีที่สุด หากธุรกิจที่นำไปรวมกับกรุงไทยแล้ว และต้องการรับคนเพิ่ม ก็จะให้พิจารณาพนักงานเคทีบีลีสซิ่งเป็นอันดับแรก หรืออาจมีการเปิดโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดให้กับพนักงาน”
ทั้งนี้หนี้เสียที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะในช่วงโครงการรถคันแรกบริษัทได้ไปทำตลาดราคา
รถมือสอง มีการปล่อยสินเชื่อให้กับเต็นท์รถ เมื่อราคารถยนต์ลดลงเต็นท์รถไม่ผ่อนชำระ รถที่เป็นหลักทรัพย์ยึดมา แล้วขายต่อทำให้เกิดการขาดทุนเป็นจำนวนมาก ขณะที่การทำตลาดสินเชื่อรถยนต์ใหม่ แทนที่ทำตลาดรถยนต์ที่เป็นที่นิยมของตลาด แต่ไปทำรถยนต์ที่ตลาดไม่นิยม หรือยี่ห้อที่เป็นที่นิยมของตลาดก็ไปเลือกทำตลาดกับรถยนต์ที่กำลังจะตกรุ่น และลูกค้าไม่ผ่อนชำระ ได้มีการยึดรถมาประมูลขาย ราคาที่ได้รับต่ำมาก จึงประสบปัญหาขาดทุนเป็นจำนวนมาก
สำหรับปีนี้ยอดสินเชื่อของธนาคารน่าจะติดลบ หลังจากช่วง9 เดือนแรกยอดสินเชื่อลดลง 6% ซึ่งเกิดจากสินเชื่อภาครัฐหดตัว ผู้ประกอบการรายใหญ่ ระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ และนำเงินมา รีไฟแนนซ์.