หัวข้อข่าว: ปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ที่มา: คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ, ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร จุดประสงค์สำคัญของการรัฐประหารยึดอำนาจตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็คือ เพื่อสร้างความสามัคคีแก่คนในชาติและ ปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะ ปัญหาตำรวจ ที่ประชาชนเดือดร้อนจากการไม่รักษากฎหมาย ตำรวจผู้ใหญ่มีพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบกันมากมายจนระบอบประชาธิปไตยหรือการปกครองโดยกฎหมายของไทยใกล้วิบัตินั้น
ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าองค์กรตำรวจจำเป็นต้องถูกปฏิรูปอย่างเร่งด่วนที่สุด บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติตัวแทนประชาชนทุกจังหวัดจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปหรือ จัดรูประบบตำรวจใหม่ เสนอต่อนายกรัฐมนตรี
ที่ สปช.รายงานไว้และคณะรัฐมนตรีรับทราบแจ้งให้หน่วยเกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ ที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือการ โอนตำรวจ 9 หน่วยตามรายชื่อ ไปให้กระทรวงทบวงกรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อความประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพงานรักษากฎหมายในเรื่องนั้น เหมือนประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก ซึ่งได้มีการประชุมกันไปแล้วสองสามครั้ง
แต่จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรม
ถ้านายกรัฐมนตรีไม่พูดหรือสั่งกำชับให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและหน่วยราชการที่มีหน้าที่ร่วมกันดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามกำหนดเวลาแล้วละก็ การปฏิบัติคงเป็นไปอย่างล่าช้าไม่แพ้การโอนงานทะเบียนยานพาหนะไปให้กรมการขนส่งทางบก งานอาวุธปืนไปให้กรมการปกครอง และตำรวจดับเพลิงให้กรุงเทพมหานคร
หน่วยงานเหล่านี้กว่าจะโอนได้ใช้เวลากว่าห้าปีให้คนไม่ให้ที่ ให้ที่ไม่มีคน ตำรวจผู้ใหญ่ให้ข่าวว่าโอนเป็นพลเรือนแล้วจะมีปัญหาเรื่องระเบียบวินัยไม่เหมือนตำรวจที่จะสั่งซ้ายหันขวาหันให้ฉีดน้ำดับไฟโดยไม่มีความรู้หลักวิชากันอย่างไรก็ได้!
คำว่าวินัย คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเรื่องเฉพาะผู้มียศและอาชีพทหารหรือตำรวจ มองกันแต่เรื่องแต่งเครื่องแบบ ติดเครื่องหมาย เข้าแถว ทำความเคารพ ฟังคำสั่งเป็นสำคัญ
แท้จริงนั้น วินัยเป็นเรื่องของจิตใจมีอยู่ในคนทำงานทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือบริษัทเอกชน
ใครบอกว่าประชาชนผู้มียศเคารพกฎหมายและมีวินัยดีกว่าคนทำงานเป็นข้าราชพลเรือนหรือบริษัทเอกชน
แค่ดู เวลาเข้าและออกจากงานรวมทั้งความเคร่งครัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ เปรียบเทียบกันแล้วละก็ จะเห็นภาพชัดเจนว่าองค์กรใดมีวินัยในการทำงานมีประสิทธิภาพคุ้มค่ากว่ากัน
โดยเฉพาะคนทำงานบริษัทห้างร้านปัจจุบันเหนื่อยกันสายตัวแทบขาด เข้างานช้าหรือกลับก่อนเวลาก็ไม่ได้ เงินเดือนและค่าตอบแทนหลายแห่งก็น้อยกว่า สิทธิและสวัสดิการต่างจากราชการลิบลับ แต่ต้องเอาใจใส่การทำงานปฏิบัติตามกฎและระเบียบของบริษัทอย่างเคร่งครัด หญิงสาวพนักงานในห้างต้องยืนตั้งแต่เช้ายันค่ำถึงสามสี่ทุ่ม ไม่มีแม้แต่เก้าอี้ให้นั่งพัก มือไม้ไม่ได้ว่าง เรื่องนั่งสุมหัวคุยกันทั้งวี่ทั้งวันไม่ได้ทำงานการนั้น เป็นไปได้ยาก
แต่ประเทศไทยมีตำรวจผู้ใหญ่จำนวนมากที่อยู่ในสภาพทำงานไม่คุ้มค่าหรือทำไม่เต็มเวลา โดยเฉพาะตำแหน่งรองระดับต่างๆ นับแต่รองผู้บัญชาการ รองผู้บังคับการ และรองผู้กำกับซึ่งถูกกำหนดขึ้นมากมายเกินจำเป็นต่างไปจากหน่วยงานอื่น
เฉพาะผู้กำกับสอบสวนกว่า 700 คน ที่ถูกแต่งตั้งให้ไปประจำกองบัญชาการ แต่ละคนรับเงินเดือนประมาณสี่หมื่น เงินตำแหน่งอีกสองหมื่นรวมเฉลี่ยหกหมื่น ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน วันๆ เดินล่องลอยไปมาไม่รู้อนาคตจะไปทางไหน ขวัญและกำลังใจแทบไม่เหลือ
งานตำรวจเมื่อเปรียบกับอำเภอซึ่งนายอำเภอมีงานในหน้าที่รับผิดชอบมากมาย ไม่มีรองนายอำเภอ แม้แต่คนเดียวก็ยังทำงานได้ ไปราชการนอกพื้นที่ก็มีปลัดอาวุโสรักษาราชการแทน ประหยัดกว่าตำรวจแห่งชาติที่ทุกสถานีมีรองผู้กำกับถึงสามคน รองผู้บังคับการหน่วยต่างๆ นั่นเจ็ดคน
ตำรวจหลายระดับที่ว่างงานหรือทำงานไม่คุ้มค่าเหล่านี้หลายคนนั่งคุยกันทั้งวี่ทั้งวันเรื่องธุรกิจสารพัด ที่ถนัดก็คือกิจการรถบรรทุก รถตู้ เปิดผับสถานบันเทิง และรับจ้างรักษาความปลอดภัย ฯลฯ
สมัยก่อนก็เรื่องขายที่ดินจัดสรรและสนามกอล์ฟ ตำรวจผู้ใหญ่หลายคนทำกันเป็นล่ำเป็นสันจนบางคนรวยเป็นเศรษฐี
รองผู้กำกับและผู้กำกับคนไหนไม่อุดหนุนก็ไม่มีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งหรืออาจถูกย้าย ใจสั่นหวั่นไหว
เหล่านี้คือการขายตำแหน่งที่จะมีโทษถึงประหารชีวิตตามที่อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ บอกว่าอาจบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริตหรือไม่?
ประธานาธิบดี ปัก กึนฮเย แห่งเกาหลีใต้กำลังถูกอัยการสูงสุดตั้งคณะกรรมการระดับสูงสอบสวนเรื่องที่เธอให้เพื่อนหญิงที่สนิทคนหนึ่งเข้าช่วยงานในหน้าที่ เธอบอกว่าเสียใจที่ไว้ใจเพื่อนคนนี้มากเกินไป แม้ตนเองไม่ได้ทุจริตอะไรก็ยอมรับผิด
เกาหลีใต้เจริญได้อย่างรวดเร็วเพราะมีระบบงานบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ การสอบสวนกระทำโดยพนักงานอัยการที่เป็นอิสระปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ไม่มีใครสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันให้สอบสวนกันอย่างไรก็ได้เหมือนประเทศไทย
ระบบงานสอบสวนที่มีปัญหาทำให้ความจริงหลายเรื่องถูกบิดเบือนให้เป็นเท็จ เรื่องเท็จถูกปั้นแต่งให้เป็นจริง ก่อให้เกิดความสับสนต่อประชาชน คนถูกดำเนินคดีต่างชูสองนิ้วด้วยความภูมิใจ ผู้คนก็เชื่อตามนั้นว่าถูกกลั่นแกล้ง เพราะไม่เชื่อมั่นการสอบสวน ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ประชาชนไม่สิ้นสุด
อย่างคดีนายธวัชชัย อนุกูล ผู้ต้องหาในความควบคุมของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ผู้รับผิดชอบการสอบสวนบอกว่า ถูกผู้อื่นทำให้ตายแต่ไม่ใช่ฆาตกรรม นั้น จนป่านนี้ก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำ เจตนาทำร้ายหรือประมาทอย่างใด เพราะไม่มีการดำเนินคดีใคร ส่งสำนวนให้อัยการไปพิจารณาแบบงงๆ
เมื่อสามวันก่อนตำรวจ สน.สุทธิสาร จับประชาชนที่เล่นไฮโลตาละสิบยี่สิบบาท ไม่รู้จับกันอย่างไร ทำให้นายดอน แดงจันติ๊บ พ่อของลูกน้อยสองขวบเลือดไหลออกจากปากและจมูกขาดใจตายในเวลาต่อมา
การสอบสวนดำเนินคดีก็อยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจแห่งนี้ ไม่มีองค์กรภายนอกอื่นใดสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ จะมีใครเชื่อถือหรือไม่ว่าจะได้ความจริง?
พื้นที่ สน.สุทธิสารนั้น เคยมีการเปิดบ่อนการพนันขนาดใหญ่เมื่อหลายปีก่อน คนเล่นแต่ละวันนับพันคน เงินหมุนเวียนนับร้อยล้าน เมื่อถูก นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ นำหลักฐานมาเปิดเผย ได้มีการสอบสวนคดีอาญาและตั้งกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงเพื่อลงโทษวินัยตำรวจผู้รับผิดชอบหลายระดับ แต่สุดท้ายไม่มีใครถูกดำเนินคดีหรือลงโทษทางวินัยแม้แต่คนเดียว
ในการปฏิรูปตำรวจนั้น ประชาชนต้องติดตามการทำงานของ คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในปี พ.ศ.2549 ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน มีปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม อัยการสูงสุด และหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ มีหน้าที่ประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายนำไปจัดทำแผนบริหารงานยุติธรรมทั้งระบบ
ได้มีการออกคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจ ให้ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานร่วมกับหน่วยงานด้านยุติธรรมพิจารณาแนวทางปฏิรูปตำรวจและงานสอบสวนเพื่อที่จะได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีสั่งการ
ระบบตำรวจและงานสอบสวนของประเทศจะถูกปฏิรูปให้เป็นไปด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพเหมือนประเทศที่เจริญแล้วหรือไม่ เร็วช้าเพียงใด ประชาชนต้องติดตามการทำงานของอนุกรรมการและคณะกรรมการสองชุดนี้
รวมทั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 260 ให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระปฏิรูปตำรวจและงานสอบสวนตามแนวทางที่กำหนดไว้ให้เห็นเป็นรูปธรรมภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้.