หัวข้อข่าว: ‘Active Citizen’ผนึกกำลังต้าน ‘คอร์รัปชัน’
ที่มา: คอลัมน์ จับกระแส, กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย นครินทร์ ศรีเลิศ
การทุจริตคอร์รัปชันเป็นเสมือนมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนประเทศ เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และถือเป็นวาระร่วมกันของคนในชาติที่ต้องร่วมกันหาทางสกัดกั้น ป้องกันซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีการประกาศเจตนารมณ์ให้เป็นฉบับต้านโกง
ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) คำถามแรกที่ได้สอบถาม ก็คือสถานการณ์การคอร์รัปชันของประเทศปัจจุบันเป็นอย่างไร ดร.มานะบอกว่าถ้าเทียบกับในอดีตก็ต้องบอกว่าสถานการณ์คอร์รัปชันของไทยปรับตัวดีขึ้น จากที่เคยตกไปอยู่อันดับที่ 102 ในปี 2556
ปัจจุบันอันดับคอร์รัปชันอยู่ที่อันดับที่ 76 ถือว่าดีขึ้นในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ตามอันดับคอร์รัปชันที่ปรับตัวดีขึ้นไม่สำคัญเท่ากับ การที่ประชาชนมีความตื่นตัวในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพิ่งจะจัดกิจกรรม รณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันครั้งใหญ่ในวันที่ 11 ก.ย. ภายใต้แนวคิด “กรรมสนองโกง” พร้อมทั้งมีกิจกรรม “เปิดไฟไล่โกง” ซึ่งเป็น ครั้งแรกที่จัดกิจกรรมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง พร้อมกับเครือข่ายใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ สถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้นพลังสำคัญมาจาก ภาคประชาชน และภาคธุรกิจได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ ขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ส่วนภาครัฐ ก็ตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นประเด็นที่สำคัญที่จะต้องให้ความสำคัญไปสู่การปฏิบัติ คำถามต่อไปคือจะทำยังไงให้กระแส “ต้านโกง” มีความต่อเนื่อง จะทำอย่างไรให้ประชาชนหันมาใส่ใจเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดหูเปิดตาให้มากขึ้น มีความตระหนัก เป็นประชาชนที่มีความตื่นตัว แบบที่เรียกว่า “Active Citizen” ดร.มานะบอกว่าหากใน 1 ปีข้างหน้าประเทศไทยมี Active Citizen เพิ่มขึ้นให้ถึง 1 ล้านคน ก็ถือว่าการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันที่ผ่านมาประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง
Active Citizen ที่จะเป็นความหวังในการต่อต้านคอร์รัปชัน มีลักษณะอย่างไร การที่คนนั่งคุยกันตามร้านกาแฟแล้วคุย ถกเถียงกัน เรื่องคอร์รัปชัน ยังไม่เพียงพอ
แต่ประชาชนต้องเคลื่อนไหวในเชิงรุกมากขึ้น มีการรวมกลุ่ม ติดตาม กดดันให้เกิดการเปิดเผยข้อมูล ให้หน่วยงานภาครัฐ หรือ เอกชนที่ทำธุรกรรมกับรัฐสร้างบรรทัดฐานที่โปร่งใส ก้าวต่อไปของการต่อต้านคอร์รัปชันคือการต่อต้านการทุจริตสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีการรณรงค์
โดยอาศัยกลไกตลาด กลไกภาคประชาชนต้องมาสนับสนุน การต่อต้านคอร์รัปชันให้เป็นไปโดยอัตโนมัติอยู่ในจิตสำนึกและเข้าใจของประชาชน
ซึ่งยั่งยืนมากกว่าที่จะใช้กฎหมาย หรืออำนาจรัฐเข้าไปเป็น เครื่องมือกดดัน
สถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นพลังสำคัญมาจาก ภาคประชาชน และภาคธุรกิจได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ ขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง