CSR เป็นความรับผิดชอบของใคร? (1)

หัวข้อข่าว: CSR เป็นความรับผิดชอบของใคร? (1)

ที่มา; คอลัมน์ หุ้นส่วนประเทศไทย, โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

 

เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่   บมจ.แสนสิริ

 

สมัยนี้มองไปทางไหนก็มักจะเห็นองค์กรธุรกิจหลายรายให้ความสนใจกับกิจกรรมที่เรียกกันว่า Corporate Social Responsibility กันเยอะแยะนะครับ ผมเองก็เขียนถึงเรื่องนี้มาหลายครั้งในคอลัมน์นี้ก็ด้วยความหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะพอช่วยผลักดันเรื่องของ CSR ให้มีองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ สนใจและพยายามทำความเข้าใจให้มากขึ้น

 

สำหรับการประกอบธุรกิจนั้น ผมพูดเสมอว่าเราต้องตอบสนองความพึงพอใจให้กับ Stakeholder หรือ “ผู้ถือประโยชน์ร่วม” ทั้ง 4 กลุ่มให้ได้ กล่าวคือ “ลูกค้า” ต้องพอใจกับสินค้าและบริการของเรา “ผู้ถือหุ้น” ต้องพึงพอใจกับผลประกอบการและกำไร “พนักงาน” ต้องได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม และที่มักจะมาท้ายๆ ในสายตาขององค์กรธุรกิจที่กำลังสร้างตัวหรือเติบโตก็คือ “สังคมส่วนรวม” ที่เราควรต้องส่งผลตอบแทนกลับคืนให้ด้วย แต่ก็อย่างว่าครับ ไม่ว่าองค์กรธุรกิจใดๆ ถ้ามองย้อนกลับไปในตอนที่เราเริ่มทำธุรกิจกันใหม่ๆ แน่นอนจุดมุ่งหมายหลักก็คือการสร้างผลตอบแทนให้กับธุรกิจ หรือใช้คำง่ายๆ ก็คือ “สร้างกำไร” ให้กับองค์กร และเมื่อองค์กรขยายใหญ่ขึ้น พนักงานเพิ่มมากขึ้น มีการเปลี่ยนโครงสร้างของผู้ถือหุ้น เข้าตลาดหลักทรัพย์ มีคำถามจากสื่อมวลชนในเรื่องนี้ตลอดเวลา ย่อมเป็นการเพิ่มแรงกดดันในเรื่องการสร้างกำไรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แต่นับเป็นแนวโน้มที่ดีครับที่เราเริ่มเห็นองค์กรธุรกิจสมัยใหม่เปลี่ยนมาคิดในมุมที่ให้ความสำคัญกับการ “สร้างสมดุลระหว่าง ผลประโยชน์ส่วนตน และผลประโยชน์ส่วนรวม” กันมากขึ้น อ่านบทความหรือไปฟังสัมมนาในเรื่องของ CSR แต่ละครั้งก็จะทราบดีครับว่าตอนนี้เรื่องของการ “สร้างมูลค่าทางธุรกิจกับการวางกลยุทธ์ที่ยั่งยืนในการดำเนินงาน” (Sustainability Strategy) เป็นเรื่องที่ ทุกคนพูดถึงและให้ความสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป ต้องบอกว่าก็ยังมีบางองค์กรที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงในการทำ CSR อย่างเช่นหวังผลให้คุณงามความดีที่ทำเป็นจุดดึงดูดความสนใจและสร้างความรู้สึกดีต่อผู้บริโภค หรือเป็นฉากบังหน้าเพื่อลดแรงกดดันที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของตนที่อาจโดนโจมตีได้ ดังนั้นผมคิดว่าการปล่อยให้องค์กรธุรกิจจัดการกับแนวทางการวางกลยุทธ์ที่ยั่งยืนเองโดยภาคส่วนอื่นของสังคมไม่เข้ามาเกี่ยวข้องเลยก็อาจจะไม่ส่งให้เกิดสัมฤทธิ์ผลที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ แล้วเรามีตัวผู้เล่นอื่นไหนอีกที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องของการผลักดัน CSR ได้บ้าง

 

ผู้เล่น ตัวสำคัญคนหนึ่งของสังคมก็คือ “รัฐบาล” หรือ “ภาครัฐ” แต่คำถามก็คือ แล้วจะให้รัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องอะไรกับ CSR ขององค์กรได้ล่ะ เพราะตัวอักษร C ใน CSR มันก็ย่อมาจาก Corporate ชัดเจนอยู่แล้ว หรือจะให้รัฐบาลมาออกกฎบังคับควบคุมการดำเนินงานด้าน CSR ตามที่เห็นว่าเหมาะสมก็ไม่น่าจะเหมาะ เพราะภาครัฐอาจจะไม่มีความเข้าใจในเรื่องโครงสร้างและการบริหารธุรกิจที่จะนำมาซึ่งความยั่งยืนดีพอเท่าคนในวงการธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ และเป็นการยากสำหรับรัฐบาลที่จะออกข้อบังคับที่ครอบจักรวาลสำหรับอุตสาหกรรมธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งอาจนำมาซึ่งการจำกัดความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินกิจกรรม CSR ที่จริงๆ แล้วทำได้หลายอย่างมากมายเพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วงบประมาณของบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ หลายๆ บริษัทมีมากกว่ารัฐบาลของบางประเทศเสียอีก

 

นอกจากนี้แล้วโฟกัสหลักของรัฐบาลจะอยู่ในเรื่องระดับประเทศ ในขณะที่องค์กรธุรกิจมากมายมีขอบเขตเครือข่ายเป็นระดับโลก ดังนั้นปัญหาที่องค์กรธุรกิจ เหล่านี้มองและมีศักยภาพเข้าไปจัดการได้น่าจะได้ภาพใหญ่กว่าที่รัฐบาลแต่ละประเทศมองเยอะ และยิ่งกว่านั้นภาครัฐยังอาจมีเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงของชาติเข้ามาเกี่ยว รวมถึงความคล่องตัวในการคิดและดำเนินการให้เป็นจริงในขณะที่คณะผู้บริหารประเทศเองก็มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน นโยบายแต่ละชุดก็เปลี่ยนไป ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถมองปัญหาสังคมให้ทะลุปรุโปร่งแบบปราศจากอคติได้

 

แล้วอย่างนี้ภาคเอกชนจะหวังพึ่งพาภาครัฐในการช่วยสนับสนุนแนวทาง CSR ของตัวเองได้อย่างไรบ้าง ได้อยู่ครับ แต่อาจเป็นการช่วยสนับสนุนทางอ้อมมากกว่า

 

จริงครับที่การตอบแทนสังคมเป็นเรื่องของภาคธุรกิจที่ต้องริเริ่มคิดและทำ แต่ก็อย่าลืมนะครับเราก็ต้องสามารถสร้างความโปร่งใสและตอบคำถามกับ Stakeholder อีก 3 กลุ่มคือ ผู้ถือหุ้น นักลงทุน พนักงาน ให้ได้ว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐจะช่วยได้ก็คือการชี้นำและชักจูงให้ผู้นาองค์กรธุรกิจและ Stakeholder เหล่านี้เห็นบทบาทที่สำคัญของพวกเค้าในการนาเอาเรื่อง CSR มาเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน ชักนำให้องค์กรธุรกิจมารวมหัวกันเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับ CSR แชร์แนวคิดปฏิบัติที่ได้ผลหรือล้มเหลว ช่วยกันคิด ช่วยวางแผนงานที่สามารถทำและได้ประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ต่างคนต่างทา

 

ภาครัฐต้องเข้าใจด้วยว่า ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจมีความ เชื่อมโยงโดยตรงกับแนวทางและศักยภาพในการบริหารกิจกรรม CSR ขององค์กร ยิ่งบรรยากาศและสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการที่ภาคธุรกิจสามารถขยายขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจคิดและนำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง CSR ได้เยอะขึ้น